ประวัติศาสตร์ที่น่ารู้อีกหนึ่งเรื่อง คือ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ โดยข้อมูลในวิกิพีเดียระบุไว้ว่า ท่านเป็นเจ้าจอมพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้นท่านยังเป็นคนสุดท้ายที่ได้ร้องเพลง นางร้องไห้ และเจ้าจอมคนสุดท้ายของราชวงศ์จักรีที่ยังดำรงชีพและถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ 9
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2433 เป็นธิดาในหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ กับหม่อมช้อย ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ( สกุลเดิม นครานนท์ )
เมื่อท่านมีอายุได้ 11 ปี หม่อมยายได้พาท่านไปถวายตัวเป็นข้าหลวงในตำหนักพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งพระองค์ได้ทรงอบรมเลี้ยงดูหม่อมราชวงศ์สดับในฐานะพระญาติ และยังโปรดให้เรียนหนังสือทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ
รวมทั้งหัดงานฝีมือ ตลอดจนการอาหารคาวหวานจนเชี่ยวชาญ นอกจากความอัจฉริยภาพและความงามแล้ว ความมีเสียงอันไพเราะของท่าน ยังเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นด้วย ดังใน บทพระราชนิพนธ์เงาะป่า ว่า
“แม่เสียงเพราะเอย น้ำเสียงเจ้าเสนาะ เหมือนดังใจพี่จะขาด เจ้าร้องลำนำ ยิ่งซ้ำพิสวาท พี่ไม่วายหมายมาด รักเจ้าเสียงเพราะเอย”
เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2449 หม่อมราชวงศ์สดับได้เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันนี้ท่านได้รับพระราชทาน “กำไลมาศ” จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นกำไลทองคำแท้จากบางสะพาน หนักสี่บาท ทำเป็นรูปตาปูโบราณสองดอกไขว้กัน ปลายตาปูเป็นดอกเดียวกัน มีตัวอักษรซึ่งเป็นบทกลอนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสลักไว้บริเวณด้านบนของกำไลว่า
กำไลมาศชาตินพคุณแท้ ไม่ปรวนแปรเป็นอื่นยั่งยืนสี
เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที จะร้ายดีขอให้เห็นเช่นเสี่ยงทาย
ตาปูทองสองดอกตอกสลัก ตรึงความรักรัดไว้อย่าให้หาย
แม้รักร่วมสวมใส่ไว้ติดกาย เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย
คราวที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับได้บันทึกไว้ว่า “ในวันเฉลิมพระที่นั่งนี้ทรงพระมหากรุณาสวมกำไลทองรูปตาปูพระราชทานข้าพเจ้า ทรงสวมโดยไม่มีเครื่องมือ บีบด้วยพระหัตถ์ รุ่งขึ้นจึงต้องรับสั่งให้กรมหลวงสรรพศาสตร์พาช่างทองแกรเลิตฝรั่งชาติเยอรมันนำเครื่องมือมาบีบให้เรียบร้อย”
วันนี้ถือว่าเป็นวันที่ท่านมีความสุขมากที่สุด และทั้งตลอดชีวิตของท่าน เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับมิได้ถอดออกจากข้อมือเลย จวบจนชีวิตท่านหาไม่แล้ว หม่อมหลวงพูนแสง สูตะบุตร ผู้เป็นหลานสาวจึงเป็นผู้ที่ถอดออกให้ และได้ถวาย “กำไลมาศ” แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในงานพระราชทานเพลิงศพของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับนั้นเอง
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สลับ ได้รับพระราชทานเครื่องยศ ประกอบด้วย หีบหมากทองคำลงยาราชาวดี พานทอง เป็นพานหมากมีเครื่องในทองคำกับกระโถนทองคำ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน ซึ่งเป็นเครื่องยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นพระสนมเอก ท่านจึงเป็น พระสนมเอก ท่านสุดท้ายในรัชกาล
ในปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตนั้น เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับมีอายุเพียง 20 ปี ทำให้ท่านเป็นที่จับตามองจากคนรอบข้างว่าจะสามารถครองตัวครองใจเป็นหม้ายได้ต่อไปตลอดหรือไม่
หลังจากนั้นอีกไม่นาน ท่านได้ถวายคืนเครื่องเพชรทั้งหลายที่ได้รับพระราชทานมาแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จนหมดสิ้น สมเด็จฯ ก็ได้ทรงรับไว้แล้วโปรดเกล้าฯ ให้นำไปขายที่ยุโรป แล้วนำเงินมาสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทั้งสิ้น นอกจากนั้นท่านยังหันไปยึดมั่นในพระพุทธศาสนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอีกด้วย
จนเมื่อท่านเจ้าจอมนั้นมีวัยชราแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้ท่านกลับเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ในช่วงเวลานี้นี่เอง ที่ท่านได้มีโอกาสทำคุณประโยชน์อีกครั้ง โดยการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้แก่ชนรุ่นหลัง เช่น วิธีถักตาชุนหรือ ถักสไบ ที่เรียกกันว่า กรองทอง วิธีทำน้ำอบ น้ำปรุง ยาดมส้มโอมือ ฯลฯ
ในหลวง ร.9 พระราชทานกระแสพระราชดำรัสปราศรัยกับเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในวันเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชโอรสาราม เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖
ตลอดจนถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ในพระราชสำนักเมื่อครั้งกระนั้น ให้ชนรุ่นหลังได้ฟังและจดบันทึกไว้ นับเป็นประโยชน์มาก เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2526 สิริรวมอายุได้ 93 ปี
ในหลวง ร.9 และพระราชินี
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา (พระอิสริยยศขณะนั้น) ทรงวางดอกไม้จันทน์พระราชทา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอม มรว.สดับ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยา
เครดิตภาพจากเพจ Thai Royal Cremation Ceremony