พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. กล่าวภายหลังการประชุมครม.ถึงกรณีครบ 30 วันในมาตรการเกี่ยวกับสถานบันเทิงและการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ว่า จะปลดล็อกเรื่อยๆ และทุกคนเข้าใจสถานการณ์ดี
โดยประเทศไทยมีเรื่องของการท่องเที่ยว การใช้ชีวิตประจำวัน แต่ต้องดูในเรื่องความเหมาะสมและสถานที่การจัดงาน ทั้งพื้นที่ส่วนตัวและกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นบนเกาะและอื่นๆ มอบหมายให้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หารือกันเพื่อชี้แจง
แต่ขอร้องอย่าทำผิดกฎหมาย อย่าแต่งตัวไม่สุภาพในช่วงนี้ ส่วนการจัดงานในที่รโหฐานสามารถจัดได้ ทั้งศิลปินดาราสามารถแสดงได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบ ไม่หยาบคายหรือแสดงให้เห็นวัฒนธรรมที่ไม่ดีงาม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า เมื่อครบ 30 วัน สถานีโทรทัศน์สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นปกติได้ แต่ขอร้องให้ลดโทนลงในบางรายการ เช่น เรื่องตลกโปกฮา เถื่อนๆ ขอให้ใช้วาจาสุภาพ เชื่อว่าสามารถทำได้ รัฐบาลเพียงขอความร่วมมือ แต่ไม่ห้ามทั้งหมด
โดยขอขอบคุณสื่อทุกแขนงที่ให้ความร่วมมือในช่วงโศกเศร้าเสียใจ เผยแพร่พระราชกรณียกิจให้คนรุ่นหลังรับทราบ และภาพของประชาชนที่เข้าถวายสักการะพระบรมศพถือว่ามืดฟ้า มัวดิน
พร้อมสั่งการให้รวบรวมแล้วจัดทำเป็นหนังสือภาพของแต่ละวันว่าในกทม. ต่างจังหวัดและต่างประเทศ บรรยากาศเป็นอย่างไร เพราะคนที่มาแสดงความอาลัยไม่ได้ถูกบังคับ แต่ก็ยังมีผู้ไม่หวังดี จึงให้ช่วยกันบอกกล่าว เพราะคนส่วนใหญ่เห็นชอบ ตามกฎกติกาประชาธิปไตย เมื่อคนส่วนใหญ่ทำ คนส่วนน้อยก็ต้องยอม ไม่ใช่คนส่วนน้อยจะมาทำให้คนส่วนใหญ่ตามไปด้วย
ด้านพ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการ ประชุมครม.ว่า สำหรับการจัดกิจกรรมบันเทิงและการเสนอข่าวของสื่อ
โดยได้จำแนกกิจกรรมเป็น 9 ลักษณะ คือ 1.งานเทศกาลระดับประเทศ ได้แก่ ลอยกระทง คริสต์มาส ปีใหม่ 2.งานเทศกาลระดับจังหวัด ได้แก่ งานกาชาด เทศกาลผีตาโขน 3.งานส่งเสริมเศรษฐกิจระดับจังหวัด อำเภอท้องถิ่น เช่น กิจกรรมถนนคนเดิน ประเพณีชนวัว
4.งานรื่นเริงประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น ลิเก ลำตัด ดนตรี มหรสพ การประกวดต่างๆ 5.กิจกรรม สถานบันเทิงต่างๆ เช่น ไนต์คลับ ผับ บาร์ 6.กิจกรรมที่จัดภายในโรงแรม เช่น การจัดประชุมสัมมนา การเลี้ยงสังสรรค์ 7.การแสดงคอนเสิร์ต 8.งานตามประเพณีวัฒนธรรม เช่น ผ้าป่า กฐิน งานมงคลสมรส งานบวช
และ 9.งานแข่งขันกีฬาทุกระดับและกองเชียร์ โดยทั้ง 9 กิจกรรมให้จัดได้ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.เป็นต้นไป ซึ่งผู้จัดงานต้องพิจารณาตามความเหมาะสมตามกฎหมาย
ผู้ช่วยโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ทุกข์ 1 ปีนั้น ขอให้คงไว้เช่นเดิม แต่ในส่วนของประชาชนและนักท่องเที่ยว ขอให้พิจารณาตามความเหมาะสม และตามที่มีประกาศสำนักนายกฯให้ลดธงครึ่งเสาเป็นระยะเวลา 30 วันตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.นั้นจะครบกำหนดในวันที่ 12 พ.ย. ดังนั้นในวันทำการราชการคือวันที่ 14 พ.ย. จะเป็นวันแรกที่ชักธงเต็มเสาเช่นเดิม
เครดิตภาพจาก BrightTV