นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งช่องปากจัดอยู่ในกลุ่มมะเร็งศีรษะและลำคอ จากสถิติข้อมูลทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล ปี 2557 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ พบว่า มะเร็งริมฝีปากและช่องปาก จัดอยู่ใน 10 อันดับแรก ของโรคมะเร็ง
ทั้งนี้ ประชากรไทย 100,000 คน โดยเฉลี่ยจะพบ ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ 16 คน เสียชีวิตถึง 7 คน และกว่า 60% ของผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
สำหรับการรักษาหากผ่าตัดไม่ได้ จะต้องให้เคมีบำบัดพร้อมกับการฉายรังสี คนไข้ส่วนใหญ่ก้อนเนื้อจะยุบลง แต่เกิดอาการแทรกซ้อนในระหว่างการรักษา คือ การอักเสบต่อเนื้อเยื่อบริเวณเยื่อบุในช่องปาก เหงือก และผิวหนัง
บางครั้งจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา การให้เคมีบำบัดและการฉายรังสีจะใช้ระยะเวลา 7 สัปดาห์ ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยลง ขาดพลังงาน แคลอรีไม่พอ ดื่มน้ำไม่ได้ และมีปัญหาเรื่องตัวแห้ง ในอดีตจะได้รับอาหารทางสายยางเข้าไปทางจมูกเพื่อให้อาหารเหลวลงไปถึงกระเพาะอาหาร แต่วิธีการนี้สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วย
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยผู้ป่วยที่กลืนอาหารไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปาก รวมทั้งผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการเคี้ยวและการกลืน นำไปสู่อาหารพระราชทาน “เจลลี่โภชนา”
ซึ่งเป็นนวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก ทำให้คุณภาพชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งและโรคอื่นๆ ในช่องปากดีขึ้น ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีลักษณะนิ่ม กลืนง่าย
รวมทั้งมีสารอาหารให้พลังงานที่เหมาะสม โดยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมคณะผู้วิจัยเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลผลการดำเนินงาน และถวายรายงานโครงการนวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก
พร้อมทูลเกล้าฯ ถวายผลิตภัณฑ์ “เจลลี่โภชนา” พระองค์ทรงซักถามและมีพระราชวินิจฉัยว่า “อาหารผู้ป่วยดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอร่อยด้วย เพราะผู้ป่วยมีความทุกข์ทางร่างกายอยู่แล้ว” ซึ่งนอกจากรสมะม่วงและรสชานมแล้ว ควรจะมีเจลลี่รสต้มยำ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เจลลี่มีรสชาติที่หลากหลาย ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้อย่างต่อเนื่อง
แพ็กเกจของเจลลี่โภชนา
สิ่งที่สะท้อนพระอัจฉริยะภาพในเรื่องของงานดีไซน์ ก็คือแพ็กเกจของเจลลี่โภชนาที่มีลักษณะคล้ายกับกล่องนม ถ้าในอนาคตมีการนำไปจำหน่ายในศูนย์การค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ต คนซื้อก็จะต้องเขย่าซึ่งทำให้เจลแตก แล้วไม่มีใครอยากกิน พระองค์จึงตรัสถามว่า “ใส่กระป๋องได้ไหม”
แพ็กเกจแนวตั้งแบบดั้งเดิมที่พระองค์กลัวว่าจะมีคนมาเขย่าจนเจลลี่แตก กินไม่ได้
หนึ่งในทีมผู้จัดทำอย่าง รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ก็ทูลว่าผลิตภัณฑ์นี้ใส่กระป๋องไม่ได้ พระองค์จึงได้พระราชทานคำแนะนำว่า “เอาอย่างนี้สิ ทำฉลากเป็นแนวนอน พอกล่องเป็นแนวนอนคนก็จะไม่เขย่า” รศ.ดร.วิสิฐ ก็ได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์มาปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ใหม่จนกลายเป็นแบบที่เราเห็นในทุกวันนี้
นายแพทย์ธนเดช สินธุเสก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาล มหาวชิราลงกรณธัญบุรีเป็นหน่วยงานเฉพาะทางโรคมะเร็งที่มีความเป็นเลิศด้านวิชาการ มุ่งเน้นมาตรฐานความปลอดภัย ใส่ใจคุณภาพชีวิต โดยรักษาคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งในทุกอวัยวะ ด้วยการฉายรังสีและเคมีบำบัด
ทั้งนี้โรคมะเร็งศีรษะและลำคอที่พบว่าเป็นบ่อยในคนไทย เช่น มะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งในช่องปาก และอาจเป็นได้หลายตำแหน่ง เช่น ริมฝีปาก ลิ้น ฐานลิ้น กระพุ้งแก้ม เหงือก จึงได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสที่มีความห่วงใยต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปาก โดยนำเจลลี่โภชนา อาหารพระราชทานมาให้บริการผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก ตามพระราชประสงค์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารเพียงพอและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผลการศึกษานำร่อง ภาวะโภชนาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ โดยรวบรวมข้อมูลจากแฟ้มประวัติผู้ป่วย 11 ราย ที่มารับรังสีรักษาแบบระยะยาว พบว่า ภายใน 3 สัปดาห์ หลังรับรังสีผู้ป่วยจะมีน้ำหนักตัวลดลงประมาณ 3 – 4 กิโลกรัม
โดยน้ำหนักที่ลดรุนแรงสัมพันธ์กับการอักเสบเป็นแผลในปาก ในขณะที่ผลการประเมินประสิทธิผลของเจลลี่โภชนาต่อภาวะโภชนาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ จำนวน 68 ราย พบว่าผู้ป่วยที่รับประทานเจลลี่โภชนาต่อเนื่อง มีน้ำหนักตัวลดลงน้อยกว่าผู้ที่ไม่รับประทานเจลลี่โภชนาหรือรับประทานไม่ต่อเนื่อง
และการประเมินประสิทธิผลของเจลลี่โภชนาต่อคุณภาพชีวิต พบว่าผู้ป่วยที่ไม่รับประทานเจลลี่โภชนามีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงกว่าผู้ป่วยที่รับประทานเจลลี่โภชนาอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ การพัฒนาเจลลี่โภชนาในโครงการต่อไปจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เจลลี่โภชนาให้มีรสชาติที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง ไม่รู้สึกจำเจและเกิดความอยากอาหาร โดยพัฒนารสชาติอื่น ๆ
เช่น รสข้าวมันไก่ แกงมัสมั่น แกงส้ม เป็นต้น รวมถึงพัฒนาให้มีรสธรรมชาติ เช่น รสข้าว รสนม นอกจากนี้จะมีการปรับปรุง บรรจุภัณฑ์ชนิดถ้วยแบบปลอดเชื้อ ซึ่งจะสะดวกต่อการรับประทาน และในอนาคตจะพัฒนานวัตกรรมอาหารต้านมะเร็งช่องปากอีกด้วย