ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า ช่วงนี้อากาศแปรปรวนเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว หมอเตือนกลุ่มเด็กเล็ก เสี่ยงปอดบวม ให้ระวัง ดูแลสุขภาพกันด้วย การป้องกันโรคปวดบวมในเด็ก คือ ควรให้เด็กรับประทานนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพราะนมแม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กแข็งแรง
โดย นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคปอดอักเสบ หรือที่เรียกว่า “ปอดบวม” คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา โดยร่างกายจะได้รับเชื้อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ โดยทั่วไปโรคปอดอักเสบอาจเป็นอาการที่ต่อเนื่องมาจากโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งความรุนแรงมีความแตกต่างกัน
จากข้อมูลของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบว่า โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบในเด็ก เป็นการอักเสบติดเชื้อเฉียบพลันของเนื้อปอด รวมทั้งหลอดลมส่วนปลายและถุงลม ทำให้การทำงานของทางเดินหายใจลดลง เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยรุนแรง และอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย อายุต่ำกว่า 1 ปี
มีโรคขาดอาหาร โรคเรื้อรังหรือความพิการแต่กำเนิด ซึ่งจากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่า โรคปอดอักเสบเป็นสาเหตุการตายอับดับ 1ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ในแต่ละปีจะมีเด็กทั่วโลกที่เสียชีวิตจากปอดอักเสบปีละ 2 ล้านคน
เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี เช่น การสูดหายใจเอาเชื้อโรคที่มีอยู่ในอากาศเข้าไปโดยตรง การกระจายของเชื้อตามกระแสเลือดไปสู่ปอด เด็กส่วนใหญ่ติดเชื้อโดยการสูดสำลักเอาเชื้อก่อโรคที่อยู่บริเวณคอเข้าไปในหลอดลมส่วนปลายหรือถุงลม เชื้อเกิดการแบ่งตัวและก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบตามมา
ผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสมักมีอาการไข้หวัดนำมาก่อนสัก 2-3 วัน มีไข้ น้ำมูก ไอมีเสมหะ ตามด้วยอาการหายใจลำบาก หายใจเร็ว ส่วนมากถ้าอาการไม่รุนแรงอาจดีขึ้นได้เอง ซึ่งการสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคปอดบวมอยู่ในภาวะป่วยหนักหรือรุนแรง จะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ ไม่ยอมกินนมหรือน้ำ ซึมมาก ปลุกตื่นยาก หายใจมีเสียงดัง หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม ควรรีบพาไปพบแพทย์
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า การป้องกันโรคปวดบวมในเด็ก คือ ควรให้เด็กรับประทานนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพราะนมแม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กแข็งแรง หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรค ไม่ควรให้เด็กใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยทุกประเภท หลีกเลี่ยงการนำเด็กไปอยู่ในที่แออัด เด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี ไม่ควรส่งไปเลี้ยงตามสถานเลี้ยงเด็ก ควรดูแลอยู่ที่บ้าน
และถ้าเด็กมีอาการไอ จาม มีน้ำมูก ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก ทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อยๆ ฝึกหัดให้เด็กล้างมือทุกครั้งหลังทำกิจกรรมต่างๆ จัดสภาพแวดล้อมให้มีอากาศถ่ายเทและดูแลความสะอาดของบ้านอยู่เสมอและที่สำคัญเด็กทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข จะทำให้เด็กมีความแข็งแรง ห่างไกลจากโรคปอดบวม
เครดิตภาพจาก สธ. นิตยสารสานพลัง ทีวีสุขภาพแห่งชาติ