เนื้อหาโดย Dodeden.com

ความทรงจำ คือ การที่จิตใจหรือสมองเก็บพฤติกรรมต่างๆ ที่ได้พบเห็นมา เพื่อช่วยในการปฏิบัติการอย่างอื่นต่อไป และแสดงให้รู้ว่าต้องมีการเรียนรู้มาก่อน ซึ่งสิ่งที่เรียนรู้นั้นได้รับการรักษาไว้ตลอดเวลาที่เกิดการเรียนและยังคงจำได้อยู่ ความทรงจำเป็นกระบวนการของจิตใจชนิดหนึ่งที่ย้ำให้ระลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาแล้ว เพื่อสร้างพฤติกรรมจนกลายเป็นนิสัยได้เช่นกัน

เมื่อสมองเริ่มพัฒนาตังแต่อยู่ในครรภ์ ในช่วงนั้นเซลล์ประสาทสมองจะมีจํานวนเพิ่มขึ้น 200,000-300,000 เซลล์ในทุกๆ นาที จนคลอด ซึ่งในช่วงเวลานั้น เด็กจะมีเซลล์สมองเกือบจะสมบูรณ์เหมือนกับวัยผู้ใหญ่ที่เดียวและจะมีการพัฒนาสูงสุดเมื่ออายุได้ 22 ปี และเมื่อเรามีอายุย่างก้าวเข้า 27 ปี เซลล์สมองจะค่อยๆ เสื่อมถอยลง เเล้วเราจะใช้ชีวิตประจําวันอย่างไรเพื่อให้สมองของเรายังคงสมบูรณ์ต่อไปนะ ?

ระบบความทรงจำสามารถเกิดขึ้นได้จากการมีสิ่งเร้ามาสัมผัสกับระบบประสาทรับความรู้สึกจนทําให้เกิดเป็นความรู้สึก เช่น การเห็นเป็นภาพ การได้ยินเป็นเสียง การรู้สึกเป็นกลิ่น ฯลฯ ซึ่งสมองจะดําเนินการตีความรู้สึก ซึ่ง “ความจำการรู้สึกสัมผัส” นี้จะเป็นความรู้สึกสัมผัสหลังจากที่สิ่งเร้าสิ้นสุดลง เช่น เมื่อเราดูภาพฉายบนจอ เราจะรู้สึกเห็นภาพที่ปรากฏนั้นติดตาต่อไป โดยความรู้สึกเหล่านี้จะเกิดจากการทํางานของประสาทสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งสิ่งต่างๆ จะทําปฏิกิริยาต่อการรับรู้ของคนเราอย่างฉับพลัน ซึ่งระบบความจําระยะสั้น เป็นความจําหลังการรับรู้สิ่งเร้าที่ได้รับการตีความจนเกิดการรับรู้แล้วก็อยู่ในความจําระยะสั้น ซึ่งความจําระยะสั้นนี้เป็นความจําชั่วคราว สําหรับใช้ประโยชน์ในขณะที่จําอยู่เท่านั้น เช่น เราอาจสามารถจําหมายเลขโทรศัพท์ที่ต้องการโทรได้จนกระทั่งเรากดเบอร์เหล่านั้นไปเรียบร้อยแล้ว เราก็ลืมว่าเรากดตัวเลขไหนไปบ้าง ซึ่งความทรงจําระยะสั้นนี้ไม่สามารถช่วยในการทําความเข้าใจหรือใช้ตีความหมายของสิ่งนั้นๆ ได้ แต่หากเราสามารถจดจําเหตุการณ์หรือสิ่งใดสิงหนึ่งได้ยาวนาน เราเรียกว่าระบบความจําระยะยาว ที่สาระสําคัญเหล่านั้นจะถูกบันทึกไว้อย่างค่อนข้างถาวรในสมอง คล้ายกับการเก็บเอกสารเข้ากล่องที่มีแฟ้มเอกสารจํานวนมาก แต่ถูกจัดเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบ ในขณะที่ความจำระยะสั้นเปรียบเสมือนตะกร้าเอกสารที่วางอยู่บนโต๊ะทํางาน ความจุที่มีอย่างจํากัดจึงทําให้ไม่สามารถใส่เอกสารได้ทั้งหมด แต่ถึงอย่างนั้น การที่จะเป็นความจำระยะยาวก็ต้องเป็นความจำชั่วคราวมาก่อนเสมอ

วิธีการที่ทําให้สมองมีสุขภาพดีนั้นมีองค์ประกอบหลายส่วน เช่น การออกกําลังกาย และมีสติอยู่เสมอ รวมทั้งการดําเนินชีวิตเพื่อให้มีสุขภาพดี แต่สิ่งสําคัญก็คือการพัฒนาเซลล์สมองในช่วงต้นของชีวิต ซึ่งทุกคนจะมีส่วนของเนื้อเยื่อสมองหรือพื้นที่ความจำจำนวนมาก การที่ร่างกายเราสร้างเซลล์สมองขณะที่อายุยังน้อย จะช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์สมองที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้ กระบวนการสร้างสมองก็เหมือนการสร้างกระดูก ที่เมื่อมีการสร้างตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อมีการสูญเสียกจะเกิดความเสียหายน้อย หากอยากรักษาความจำให้ยืนยาว คือ

  • ต้องมีการกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ โดยเลือกอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ วิตามินบีที่เป็นประโยชน์ต่อสมอง รวมทั้งการกินปลาซึ่งมีกรดไขมันโอเมก้า 3 การออกกําลังกายที่จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปสู่สมอง 
  • การตรวจร่างกายเป็นประจํา เพื่อรักษาสุขภาพให้ดีอย่างสม่ำเสมอ 
  • การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ซึ่งถ้ามีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับก็เป็นผลให้เกิดอาการความจําเสื่อมได้เช่นกัน เพราะเมื่อขาดอากาศไปเลี้ยงสมอง แม้เพียงชั่วครู่ ก็จะส่งผลให้เนื้อเยื่อประสาทและสมองส่วนสีเทา ซึ่งทําหน้าที่เกี่ยวกับการให้เหตุผลและความทรงจําถูกทําลายด้วย 
  • การลดความเครียดเป็นสิ่งจําเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเกิดความเครียดแล้ว ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า “คอร์ติซอล” ซึ่งจะเข้าไปทําลายความทรงจําระยะสั้น การคิดและการใช้สมอง สมองก็เหมือนกับกล้ามเนื้อที่ถ้าไม่ได้ใช้งานบ่อยๆ สุดท้ายก็จะมีการเสื่อมสภาพไป การใช้ความคิดและการใช้สมองจึงเป็นการบริหารให้สมองมีการทํางานได้ดีขึ้น รวมถึงการเข้าสังคมเป็นการกระตุ้นทําให้สมองเกิดการตื่นตัวได้ดีมากขึ้นด้วย

เราสามารถฝึกสมองเพื่อรักษาและฟื้นฟูความทรงจําได้โดยใช้เทคนิคต่างๆ ข้างต้นได้ แต่สิ่งที่สําคัญคือจะต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ อย่าให้มีสิ่งใดมาขัดจังหวะระหว่างที่คุณกําลังให้ความสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเสียงโทรทัศน์ เสียงโทรศัพท์ อะไรก็แล้วแต่ที่จะเป็นการดึงความสนใจของคุณออกจากความตั้งใจเหล่านั้น ซึ่งการขัดจังหวะเหล่านี้จะเป็นเสมือนการลัดวงจรการทํางานของระบบความทรงจํา ทําให้คุณไม่สามารถฝึกสมองเพื่อรักษาและฟื้นฟูความทรงจําได้อย่างเต็มที่

เรื่องน่าสนใจ