นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะผิวพรรณ มีการรักษา สิว ฝ้า ริ้วรอย เสริมบุคลิกภาพเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับตนเอง นวัตกรรมเพื่อความงามจึงเป็นที่นิยมในทุกกลุ่มวัย การทำเลเซอร์ผิวหนัง ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนสนใจทำกันเป็นจำนวนมาก
โดยแบ่งออกเป็น 1) เลเซอร์ชนิดที่ไม่มีแผล คือ เลเซอร์ที่หลังการรักษาแล้วไม่มีแผล คนไข้สามารถกลับไปทำงานได้ทันที 2) เลเซอร์ที่มีแผล ซึ่งเลเซอร์กลุ่มนี้คือคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ นำมารักษากระเนื้อ เนื้องอกผิวหนัง โดยจะมีรอยแดงก่อน แล้วแผลจึงจะหายเป็นปกติ ซึ่งผลของการเลเซอร์ จะทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น เกิดรอยดำจากการถูกแสงแดดได้ง่าย และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาผิวหนังอื่นๆ
เช่น การติดเชื้อ การอักเสบระคายเคือง ผู้ที่ทำเลเซอร์จึงต้องระวังไม่ให้แผลสัมผัสกับสารที่ทำให้ระคายเคืองผิว นำไปสู่การอักเสบ เช่น แอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ โฟมล้างหน้า โทนเนอร์ กรดผลไม้ ยาหรือเครื่องสำอางที่มีความเป็นกรด ซึ่งในช่วงแรกหลังการทำเลเซอร์ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนต่อผิว งดใช้เครื่องสำอางที่ใช้อยู่ป็นประจำ ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป มีค่า PA ++ จึงจะสามารถป้องกัน รังสี UVA UVB ได้ดี และยังสามารถลดอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งผิวหนังได้
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การทำเลเซอร์เป็นทางเลือก สำหรับผู้ที่ต้องการดูแลผิวแบบเร่งด่วน แต่นอกจากความสวยงามที่ได้รับแล้ว ยังมีผลเสียที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจก่อนรับบริการ ซึ่งวิธีดูแลสุขภาพผิวให้สดใส ชะลอริ้วรอยที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพตนเองโดยช่วงนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน จึงควรทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน
การนอนหลับให้เพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ข้าวไม่ขัดสี ผักใบเขียว เพราะมีกากใย หรือไฟเบอร์ ช่วยในการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ควรทานผลไม้ ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ฝรั่ง ส้ม กีวี มะละกอสุก ดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภท ชา กาแฟ ที่มีผลต่อความชุ่มชื้นของผิว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพผิวที่ดีจากภายใน