นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ ธุรกิจความงามเป็นกิจการที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม ยังเป็นธุรกิจอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ในปี 2560
และด้วยกระแสนิยมความงามที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จะช่วยให้ชื่อเสียงของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ
อย่างไรก็ตามจากกระแสนิยมนี้ ก็มักมีผู้ฉกฉวยโอกาสเพราะเห็นแก่รายได้ โดยเฉพาะบริการที่เป็นคอร์สต่อเนื่องกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการรักษาผิวหน้า ลดริ้วรอยโดยไม่ต้องผ่าตัด และมักจะแข่งขันกันที่ราคา ซึ่งหลายคนอาจตัดสินใจซื้อโดยมิได้ไตร่ตรองก่อน อาจมีความเสี่ยงรับบริการจากผู้ที่ไม่มีความรู้ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำให้เกิดผลเสีย ทั้งติดเชื้อ อักเสบ เสียโฉมซึ่งยากต่อการแก้ไขให้กลับมาเหมือนเดิม สร้างความทุกข์ทรมานในการดำเนินชีวิต
นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า ข้อควรระวังก่อนที่จะมีการตกลงซื้อคอร์สความงาม ซึ่งส่วนมากจะมีการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค อินสตราแกรม และไลน์ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ โดยภายหลังที่ได้รับข้อมูลแล้วอย่าด่วนตัดสินใจซื้อ ขอให้พิจารณาอย่างรอบด้าน และต้องตรวจสอบมาตรฐานบริการทั้งแพทย์ และสถานพยาบาลว่ามีการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
โดยแนะนำให้ไปตรวจสอบสถานพยาบาลจริงด้วยตนเอง จะต้องมีหลักฐานครบถ้วนตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่ปรับปรุงและแก้ไข ฉบับที่ 4 กำหนด ดังนี้ 1.มีการแสดงป้ายชื่อ และเลขที่ใบอนุญาต 13 หลักที่หน้าสถานพยาบาล 2.มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล 3.ใบชำระค่าธรรมเนียมสถานพยาบาลเป็นปีปัจจุบัน 4.มีป้ายแสดงอัตราค่าบริการชัดเจน พร้อมมีจุดให้สอบถามอัตราค่าบริการ และให้ตรวจสอบชื่อสถานพยาบาลซ้ำที่เว็บไซต์สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) โดยพิมพ์ชื่อสถานพยาบาลเป็นภาษาไทย หากปรากฏชื่อสถานพยาบาลดังกล่าวแสดงว่าได้มาตรฐานจริง
นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( กรม สบส.) ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์โดดเด่นดอทคอม
ในส่วนของแพทย์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริการในสถานพยาบาล จะต้องแสดงหลักฐานการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น ชื่อ-นามสกุล และรูปถ่ายที่หน้าห้องตรวจในใบผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งต้องตรงกับแพทย์ผู้ให้บริการในขณะนั้น และก่อนรับบริการตามที่นัดหมายทุกครั้ง ขอให้ตรวจสอบชื่อที่เว็บไซต์แพทยสภา ซึ่งจะแสดงสาขาความเชี่ยวชาญของแพทย์ และปีที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ซึ่งหากไม่พบหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งแสดงว่าสถานพยาบาลแห่งนี้อาจใช้หมอเถื่อนให้บริการ ขอให้งดรับบริการ และให้แจ้งมาที่เฟซบุ๊ค สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์, มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน หรือที่สายด่วน 02 193 7999 กรม สบส. จะดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที
ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) กล่าวว่า สถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแต่ใช้หมอเถื่อนให้บริการจะมีโทษตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่ปรับปรุงและแก้ไข ฉบับที่ 4 ฐานให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ผู้ดำเนินการมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนบุคคลที่แอบอ้างตนเป็นแพทย์จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรรม 2525 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2560 ที่ผ่านมา “เว็บไซต์โดดเด่นดอทคอม” ได้จับมือ “สบส.” รณรงค์ และให้ข้อมูลเรื่องโฆษณาคลินิกเสริมความงาม และศัลยกรรมให้ถูกต้องตาม พ.ร.บฉบับใหม่ โดย นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ระบุว่าสื่อมวลชนเป็นกลไกสำคัญ ซึ่งบุคคลากรของ สบส.อาจจะสอดส่องไม่ทั่วถึง จึงฝากให้เว็บไซต์โดดเด่น เป็นกระบอกเสียง สอดส่องและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับคลินิกต่างๆ รวมทั้งส่งต่อข้อร้องเรียนต่างๆ ให้ทางกรม สบส.ด้วย