ที่มา: dodeden

วันนี้ (7 มีนาคม 2560) ที่ โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซนเตอร์  พลเรือเอกณรงค์  พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เปิดงานสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ครั้งที่ 15 และปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายประชารัฐกับการป้องกันโรคและดูแลสุขภาพ ด้านโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” ว่า

ทุกประเทศทั่วโลกดำเนินการร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามพันธะกรณีสหประชาชาติ พ.ศ. 2554 ที่มีด้วยกัน 3 ประการคือ ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ โดยจะป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18 ล้านคน และป้องกันไม่ให้มีผู้ที่จะเสียชีวิตจากเอดส์ 11.2 ล้านคนทั่วโลก ในระหว่าง พ.ศ.2556–2573

พลเรือเอกณรงค์  กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบายลดความเลื่อมล้ำของสังคม สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐ ยกระดับคุณภาพบริการ เน้นการป้องกันโรคมากกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงมารักษา ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และภาคส่วนต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข

ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์และกล่าวถึงการแก้ปัญหาเอดส์เป็นการเฉพาะไว้ว่า ต้องแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน ให้นโยบายที่ชัดเจนในการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขอย่างมีส่วนร่วมระหว่างรัฐและประชาชนมาโดยตลอด รูปแบบที่เด่นชัดและเป็นตัวอย่างระดับโลกคืองานสาธารณสุขมูลฐานที่อาศัยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกำลังสำคัญร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข

ล่าสุดมีนโยบายการให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ติดเชื้อทุกรายโดยไม่คำนึงถึงระดับเม็ดเลือดขาวซีดีสี่ และเมื่อมิถุนายน พ.ศ.2559 ประเทศไทยแสดงเจตนารมณ์ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยโรคเอดส์ ตั้งเป้าภายในปี พ.ศ.2573 ประเทศไทยจะไม่มีเด็กติดเชื้อเอชไอวีเมื่อแรกเกิด ผู้ใหญ่ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ต้องมีจำนวนน้อยกว่า 1,000 รายต่อปี ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ และจะไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลอันเนื่องมาจากการติดเชื้อเอชไอวี เหนือสิ่งอื่นใดทุกคนต้องมีจิตสำนึกในการระวังป้องกันไม่เพียงแค่โรคเอดส์

เท่านั้นยังรวมถึงโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นด้วย โดยมียุทธศาสตร์สำคัญดังนี้ 1.สังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับโรคเอดส์ 2.ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานจากการควบคุมการระบาดของโรคเป็นการยุติปัญหา 3.เติมเต็มช่องว่างการดำเนินงานในปัจจุบัน ด้วยวิธีการดำเนินงานที่มีประสิทธิผลสูงขึ้น กำหนดชุดบริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีความเหมาะสมกับบริบทของกลุ่มประชากรเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ และ 4.ผสมผสานเชื่อมโยงการป้องกัน กับการดูแลรักษาเข้าด้วยกัน ให้มีความต่อเนื่องตลอดชีวิต

“ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยความร่วมมืออย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วน ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศแรกในโลกที่ประสบความสำเร็จในการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี พ.ศ. 2573 ตามพันธะสัญญาฯ โดยการขับเคลื่อนงานจะอาศัยงบประมาณของประเทศเป็นหลัก เพื่อความมั่นใจว่า การดำเนินการจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน  ซึ่งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เห็นชอบให้การยุติปัญหาเอดส์เป็นวาระสำคัญระดับชาติ  เป็นความร่วมรับผิดชอบของหน่วยงานทั้งส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์” พลเรือเอกณรงค์  กล่าว

เรื่องน่าสนใจ