นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันที่ 12 – 18 มีนาคม 2560 เป็นสัปดาห์โรคต้อหินโลก โดยสมาคมโรคต้อหินโลก (World Glaucoma Association – WGA) และ สมาคมผู้ป่วยโรคต้อหินโลก ( World Glaucoma Patient Association-WGPA ) คาดประมาณว่าในปี 2563 ทั่วโลกจะมีผู้ป่วย 76 ล้านคน ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยจะตาบอด ได้เชิญชวนให้ทุกประเทศร่วมกันสร้างความตระหนักถึงอันตรายของโรคนี้
ซึ่งเป็นสาเหตุการตาบอดสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคต้อกระจก พบมากในผู้สูงอายุ แนวโน้มพบผู้ป่วยตามอายุเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปประมาณร้อยละ 4 และเพิ่มเป็นร้อยละ 6 เมื่ออายุมากกว่า 60 ปี จึงคาดว่าคนไทยเป็นโรคต้อหินประมาณ 1.2 ล้านคน
กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้โรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั้งส่วนกลางและภูมิภาค จัดกิจกรรมรณรงค์ในสัปดาห์โรคต้อหินโลก เน้นการให้ความรู้ประชาชน และเชิญชวนให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคต้อหิน
ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ หรือเป็นโรคที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงขั้วประสาทตาลดลง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีสายตาสั้น ผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดดวงตาหรือเคยมีอาการตาอักเสบ และผู้มีประวัติการกระแทกหรือเกิดอุบัติเหตุบริเวณดวงตา ผู้ที่กินหรือหยอดตาด้วยยาสเตียรอยด์ (Steroid) ไปพบจักษุแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อตรวจหาความผิดปกติและรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรคเพื่อป้องกันตาบอด
เนื่องจากในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติ ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้ หากปล่อยไว้จะมีอาการตามัว มองเห็นภาพแคบลงเรื่อยๆ จนกระทั่งตาบอด ไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้ นอกจากนี้ ได้มอบให้กรมการแพทย์ ศึกษาวิธีการและเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อขยายการคัดกรองโรคต้อหินถึงชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต เพื่อปกป้องคนไทยจากการสูญเสียการมองเห็นให้ได้มากที่สุด
ด้านนายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และจักษุแพทย์ กล่าวว่า อาการของโรคต้อหินมี 2 ลักษณะ คือ ชนิดเฉียบพลัน จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 – 2 วัน มีอาการรุนแรง ปวดตามาก ตาแดง ตามัว มองเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ อาจมีคลื่นไส้อาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาภายใน 1 – 2 วัน หรือความดันตาสูงมากจะทำให้ประสาทตาเสีย สูญเสียการมองเห็น ไม่สามารถรักษาให้กลับมาดีเหมือนเดิม และชนิดไม่เฉียบพลัน
ซึ่งพบมากที่สุด อาการจะเกิดขึ้นช้าๆ ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติ ไม่ปวดตา อาจเกิดจากความดันในลูกตาสูงขึ้นทำให้ขั้วประสาทตาค่อยๆ เสื่อม หรือเกิดจากเซลล์ประสาทตาถูกทำลาย การมองเห็นจะแคบลงเรื่อยๆ จนเห็นแค่รอบดวงตา ผู้ป่วยจะมีอาการเดินชนขอบประตู ชนเสา ไม่มั่นใจเดินขึ้นบันได เพราะมองไม่เห็นด้านข้าง
การรักษาต้อหินมี 3 วิธีคือ 1.การรักษาโดยใช้ยา ชนิดกินและชนิดหยอด เพื่อลดความดันในลูกตา 2.ใช้แสงเลเซอร์ เจาะรูตรงม่านตาที่แคบเพื่อให้เกิดช่องทางของรูระบายน้ำภายในลูกตาได้ดีขึ้น และ3.ผ่าตัดทำทางระบายน้ำจากข้างในตาออกมาข้างนอกตา ซึ่งจะช่วยลดการทำลายเส้นประสาทตา แต่ไม่สามารถทำให้เส้นประสาทตาที่สูญเสียไปแล้วกลับมามองเห็นดังเดิมได้ ดังนั้นผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จึงควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ และรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง