เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 14 มีนาคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานและเยี่ยมชมนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งเต้านมเครื่องแรกของโลก ที่ให้บริการประชาชนทั่วไป ณ อาคารว่องวานิช ชั้น 2 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
นพ.กฤษณ์ จาฏามระ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวในการแถลงข่าวเปิดตัวเครื่องวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมว่า เนื่องจากอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเต้านมของสตรีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษาด้วยการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด และการฉายรังสีมีอัตราที่สูงขึ้น
ปัจจุบันจัดเป็นโรคที่มีสถิติเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งสตรีในประเทศไทย ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรักษามะเร็งเต้านม จึงมีการปรับปรุงและพัฒนาการรักษาขึ้นใหม่
โดยทางโรงพยาบาลได้ติดตั้งเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านม ( Dedicated 3D Cone-Beam Computed Tomography ) มูลค่าเครื่องละ 56 ล้านบาท ที่ใช้สำหรับบุคคลทั่วไปเป็นเครื่องแรกของโลกที่สามารถสร้างภาพสามมิติของเต้านม โดยไม่มีการบีบเต้านมและใช้เวลาในการตรวจเพียง 10 วินาทีเท่านั้น
ซึ่งสามารถระบุตำแหน่งจุดที่มีความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ ภาพที่ได้จากการเอ็กซเรย์ก็มีความละเอียดสูง สามารถหมุนได้ทุกทิศทางและขยายภาพเฉพาะจุดได้ ถ้าหากตรวจพบเซลล์ผิดปกติ แพทย์สามารถเปิดด้านข้างของเครื่องและนำเครื่องมือเข้าไปเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจได้ทันที โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลได้ส่งแพทย์ไปร่วมพัฒนากับทางบริษัทผู้ผลิตด้วย
สามารถจำลองภาพเต้านมสามมิติได้ ใช้ในการวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำ และการตัดชื้นเนื้อร้ายได้อย่างแม่นยำเช่นกัน
นพ.กฤษณ์ กล่าวต่อว่า ต่อมาเป็นเครื่องแมมโมแกรมสามมิติ (Tomosynthesis) มูลค่าเครื่องละ 22 ล้านบาท ซึ่งได้ติดตั้งเครื่องที่มีการพัฒนาเป็นรุ่นที่ 3 และเป็นเครื่องแรกในประเทศไทย คือ Affirm Tomosynthesis ที่สามารถตรวจเต้านมสามมิติ พร้อมฉีดสารทึบรังสี สามารถระบุพิกัดของจุดที่มีความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังสามารถติดตั้งอุปกรณ์เจาะชิ้นเนื้อ และวางลวดนำเพื่อระบุตำแหน่งในการผ่าตัดได้ โดยปัจจุบันมีเครื่องที่เปิดให้บริการรวมทั้งหมด 3 เครื่อง นอกจากนี้ยังติดตั้งเตียงระบุพิกัดด้วยระบบ
เปรียบเทียบผลทำแมมโมแกรม รุ่น affirm ซ้ายคือแมมโมแกรมทั่วไป แต่ขวาพอหลังฉีดสีจะเห็นตัวก่อนเนื้อร้ายชัดเจน
ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าศูนย์ฯ กล่าวอีกว่า และเครื่องมือในการตรวจหามะเร็งเต้านม ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดคือ Digital Breast Infrared Imaging System (Breast Thermography) โดยเป็นการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยการวัดอุณหภูมิในจุดต่างๆ ของเต้านมที่ละเอียดที่สุดเครื่องแรกของประเทศไทย
เนื่องจากเซลล์มะเร็งที่มีการแบ่งตัวเร็วขึ้นจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีการสร้างเส้นเลือดใหม่ ทำให้กล้องตรวจพบบริเวณที่มีเซลล์แปลกปลอมได้ก่อนจะกลายเป็นก้อนมะเร็ง ซึ่งกล้องตัวนี้ทำงานด้วยรังสีอินฟราเรด โดยจะสามารถพบความต่างอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 0.02 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ จุดเด่นของเครื่องมือชนิดดังกล่าวทำให้ไม่ต้องมีการบีบเต้านม ไม่ต้องสัมผัสรังสีเอกซเรย์ และไม่ใช้การฉีดยาเข้ามาในกระบวนการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ในทางกลับกันยังสามารถใช้ร่วมกับการเอ็กซเรย์เต้านม และอัลตราซาวน์ในการวินิจฉัยก้อนที่เต้านมได้อีกด้วย
“สำหรับเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านม และเครื่องดิจิตอล บราสต์ อินฟาเรด อิมเมจจิง ซิสเต็ม (บราสต์ เธอร์โมกราฟี) เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก จึงต้องใช้เวลาในการศึกษาและทดสอบประสิทธิภาพก่อน คาดว่าต้องใช้เวลาราว 3 เดือน ก่อนเปิดให้ประชาชนใช้บริการ ขณะที่การทำงานของทั้ง 3 เครื่องนั้นต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน ไม่มีเครื่องไหนที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเครื่องไหน หากการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องหนึ่งไม่ชัดเจน อาจต้องใช้อีกเครื่องมาใช้วินิจฉัยร่วมกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ แต่ทั้ง 3 เครื่องล้วนช่วยให้การวินิจฉัยมีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น”
ถามถึงค่าใช้จ่ายผู้ป่วยมารักษานั้น นพ.กฤษณ์กล่าวว่า สืบเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีรับสั่งกับตนครั้งเสด็จฯ มาทรงเปิดศูนย์ฯ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2548 ว่า “อยากให้ศูนย์ฯเป็นที่พึ่งของผู้หญิง” ซึ่งตนก็น้อมนำมาตีความว่า ศูนย์แห่งนี้จะต้องเก่งและเป็นเลิศ จึงเป็นที่มาทำให้จัดซื้อเครื่องมือวินิจฉัยโรคเหล่านี้มา แม้จะมีราคาสูงมาก แต่ก็ได้มาโดยการบริจาค ไม่ได้กู้ธนาคารมา ฉะนั้นค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยที่มารักษาจะต้องถูกที่สุด ไม่ว่าจะใช้สิทธิ์อะไรก็สามารถเข้ามารักษาได้ ส่วนตัวยังอยากให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนมาพึ่งพาเรา เพราะเรามีนวัตกรรมที่ทันสมัยที่สุด
เครื่องตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยการวัดอุณหภูมิ ในกรณีเพียงเข้าไปยืนภายในห้องตรวจด้านหลัง เครื่องจะวัดอุณหภูมิด้วยลำแสงอินฟาเรด จะเห็นก่อนเนื้อร้ายได้เพราะมีอุณหภูมิมากกว่าก้อนเนื้อปกติ แม้จะชิ้นเล็กระดับมิลลิเมตรก็ตาม