“โนโมโฟเบีย” โรคกลัวขาดมือถือ
โนโมโฟเบีย (Nomophobia) มาจากคำว่า “no mobile phone phobia”เป็นศัพท์ที่ YouGov องค์การวิจัยของสหราชอาณาจักร บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2008 เพื่อใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัวจากการขาดโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสื่อสาร และจัดเป็นโรคจิตเวชประเภทหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มวิตกกังวล
ทั้งนี้ ถ้าเราอยู่ในที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือจู่ ๆ แบตเตอรี่โทรศัพท์ดันหมดซะงั้น แล้วเรารู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย แสดงว่าเข้าเค้าอาการโนโมโฟเบียแล้วล่ะ ถ้าบางคนเป็นมาก ๆ อาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ ซึ่งอาการจะหนักเบาขนาดไหนขึ้นอยู่กับแต่ละคน
พฤติกรรมไหน เข้าข่ายอาการโนโมโฟเบีย?
- พกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา ต้องวางโทรศัพท์ไว้ใกล้ ๆ ตัว และจะรู้สึกกังวลใจมากถ้ามือถือไม่ได้อยู่กับตัว
- หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความ อัพเดทข้อมูลในสมาร์ทโฟนอยู่ตลอดเวลา ชอบหยิบขึ้นมาดูบ่อย ๆ แม้ไม่มีเรื่องด่วน เพราะห้ามใจไม่ไหว
- เมื่อมีเสียงเตือนเข้ามา คุณจะวางภารกิจตรงหน้าทั้งหมด เพื่อเช็กข้อความในโทรศัพท์ ไม่งั้นจะไม่มีสมาธิ ลุกลี้ลุกลน กระวนกระวายใจ จนทำภารกิจที่อยู่ตรงหน้าต่อไม่ได้
- ตื่นนอนปุ๊บก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กข้อความปั๊บ พอก่อนจะนอน ก็ยังเล่นโทรศัพท์ เล่นเกมส์
- ชอบเล่นโทรศัพท์เป็นประจำในขณะที่ทำกิจกรรมอื่นในชีวิตประจำวันไปด้วย เช่น ระหว่างทานข้าว เข้าห้องน้ำ ขับรถ หรือระหว่างนั่งรอรถเมล์ ขึ้นรถไฟฟ้า
- หากวางมือถือไว้ผิดที่ หรือหาไม่เจอ จะรู้สึกตื่นตระหนกตกใจมาก
- กลัวโทรศัพท์ตัวเองหาย แม้ว่าจะวางอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแล้วก็ตาม
- ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือเลย
- ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าคุยกับเพื่อนที่อยู่ตรงหน้าเสียอีก
- ลองตั้งใจจะไม่เล่นมือถือสัก 1 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถทำได้ ต้องหยิบมือถือขึ้นมาเล่นทุกทีสิ
วิธีแก้ไขโรค “โนโมโฟเบีย”
- พยายามใช้มือถือเท่าที่จำเป็น และหากิจกรรมอื่นทดแทน เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย
- ถ้ารู้สึกเหงา ให้หาเพื่อนคุยแทนการใช้โทรศัพท์ เช่น คุยกับคนในบ้าน เพื่อนร่วมงาน นัดเพื่อนมาเจอกัน อย่าหมกมุ่นอยู่กับการสนทนาผ่านหน้าจอโลกไซเบอร์
- ตั้งกฎว่าจะไม่แตะต้องมือถือภายในเวลาที่กำหนด เช่น 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาห่างจากมือถือให้ได้มากขึ้น
- ลองกำหนดให้ห้องนอนเป็นเขตปลอดมือถือ แล้วทำตามให้ได้ จะได้ไม่ต้องหยิบมือถือมาเล่นทันทีตั้งแต่ลืมตาตื่น หรือผล็อยหลับไปกับมือถือที่เล่นก่อนนอน
หากมีอาการหนัก ไม่สามารถห่างมือถือได้ ควรปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งถ้าใครมีอาการหนักมาก ๆ ทางการแพทย์อาจจะใช้วิธีการรักษาแบบ Cognitive Behavior Therapy (CBT) ที่นิยมใช้รักษาคนมีอาการวิตกกังวล และอาการกลัวในระดับต่าง ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนแปลงความเชื่อเฉพาะตัว ให้เรารู้สึกเป็นอิสระมากขึ้นเมื่อไม่มีโทรศัพท์มือถือ
ขอบคุณที่มา kapook.com