เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 5 เม.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผบ.ตร. พล.ต.อ.สุวิระ ทรงเมตตา ที่ปรึกษา (สบ.10) พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธุ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ประชุมร่วมกับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค(บช.ภ.)1-9 ศชต. และหน่วยต่างๆที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อวางมาตรการดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 และการบังคับใช้กฎหมายจราจร โดยใช้เวลาประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง
พล.ต.ท.วิทยา เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อวางมาตรการดูแลประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่าเน้นย้ำการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด หลังจากมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่14-15/2560 เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายจราจรของรถยนต์ส่วนบุคคลและรถสาธารณะ และให้เริ่มบังคับใช้จริงจังตามคำสั่งดังกล่าวและกฎหมายจราจรที่เกี่ยวข้องวันนี้เป็นวันแรก โดยตั้งแต่เช้าวันนี้เป็นต้นมายังไม่ได้รับรายงานการจับ ปรับตามกฎหมาย คาดว่าช่วงเย็นวันนี้จะมีข้อมูลรายงานตัวเลขเบื้องต้นเข้ามา การบังคับใช้กฎหมายในวันนี้นี้เน้นเป็นพิเศษ ในเรื่องการไม่สวมหมวกนิรภัย สำหรับรถจักรยานยนต์ การไม่คาดเข็ดขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ทุกประเภท รวมถึงการไม่มีใบอนุญาตขับขี่ เมาแล้วขับ และ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยให้กวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดทั้งรถส่วนบุคคลและรถของหน่วยงานราชการด้วย ไม่มีข้อยกเว้น โดยเท่าที่ตนสังเกตเห็นในช่วงเช้าที่ผ่านท ก็พบว่าประชาชาทำตามกฎหมายมากขึ้น โดยเฉพาะการนั่งท้ายรถกระบะก็เห็นน้อยลงมาก อย่างไรก็ตามสำหรับประเด็นการคาดเข็มขัดนิรภัยและสวมหมวกกันน็อคนั้น หากพบผู้ฝ่าฝืนไม่คาดเข็มขัดถือมีโทษปรับตามกฎหมายไม่เกิน 500 บาท แต่วันที่ประชุมวันนี้ สำหนักงานตำรวจแห่งชาติ มีนโยบายว่าช่วงแรกจะผ่อนปรนโดย หากประชาชนฝ่าฝืนไม่ทำตามกฎหมาย จะมีโทษปรับเพียง 100-200 บาท ทั้งนี้ค่าปรับที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่เช่นในกทม.กับต่างจังหวัดก็แตกต่างกัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจ ซึ่งจะปรับในอัตรานี้ไประยะหนึ่ง จุดประสงค์เพื่อตักเตือนประชาชนก่อน จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เมื่อประชาชนปรับตัวกับข้อบังคับก็จะเข้มงวดขึ้น ส่วนในรถโดยสารสาธารณะ จะเน้นการบังคับใช้กับผู้โดยสารที่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ขับขี่ เพราะถือเป็นเจตนาของผู้โดยสารในการละเมิดกฎหมาย พร้อมขอความร่วมมือผู้รถใช้ถนนในการคาดเข็มขัดนิรภัย และ สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากล ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
พล.ต.ท.วิทยา กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการห้ามใช้รถผิดประเภท หรือ การบรรทุกคนบริเวณท้ายกระบะ รวมแคปหลังของรถกระบะแบบ 2 ประตู นั้น ไม่สามารถทำได้ แต่เจ้าหน้าที่จะมีการผ่อนปรนการบรรทุกผู้โดยสารภายในแคปของรถเป็นกรณี โดยหากพิจารณาว่ามีความจำเป็นและเดินทางไม่ไกลจะใช้การตักเตือน แต่หากพบการบรรทุกในเชิงรับจ้างขนส่ง เช่นรถที่ดัดแปลงให้คนนั่ง 2 ชั้นตรงกระบะท้าย เช่นนี้เจตนาขนคนชัดเจน ก็จะถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนใช้รถขนส่งสาธารณะในการเดินทางกลับภูมิลำเนาแทนการเดินทางไปภายในแคปของกระบะ หรือกระบะท้ายเพื่อความปลอดภัย ซึ่งข้อกฎหมายทั้งหมดเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้หมดแล้ว ทั้งนี้กรณีที่เจ้าของรถไปติดตั้งเข็มขัดนิรภัยที่แคปหลัง นั้นก็ต้องผ่านการตรวจรับรองประเภทรถจากกรมขนส่งทางบกก่อน ถ้าได้รับการรับรองว่าสามารถให้คนโดยสารได้ตามกฎหมายก็นั่งได้ แต่ถ้าไม่มีการรับรองหากเจ้าหน้าที่พบก็ต้องจับกุม ถือว่าผิดกฎหมายต้องปรับคนขับ ทั้งนี้ในช่วงเริ่มต้น โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์นี้ จะกวดขันการไม่อนุญาตให้คนนั่งท้ายกระบะตั้งแต่ต้นทาง จุดแรกก็จะตักเตือนก่อนว่าผิดและต้องนำคนออกให้โดยสารวิธีอื่นที่ถูกกฎหมาย มีทางเลือกอื่นที่ทำได้ เช่นรถสาธารณะ โดยไม่ทำการเปรียบเทียบปรับ แต่หากผ่านต้นทางไปสู่จุด 2 จุด 3 แบบนี้ถือว่าเจตนาละเมิดกฎหมายแล้ว ก็ไม่อนุญาตให้ขนคน จึงขอย้ำว่าให้ทำตามกฎหมายตั้งแต่ต้นดีกว่า เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้แม้กระแสสังคมระบุว่ากฎหมายห้ามนั่งกระบะหลังและแคปไม่เอื้อกับคนรายได้น้อยนั้น ก็ต้องบอกว่าต้องไปแก้กฎหมาย ในเมื่อกฎหมายออกมาเช่นนี้ ตำรวจต้องทำตาม บังคับใช้กฎหมายนี้ ตนจะบอกให้ตำรวจทั่วประเทศละเว้นกฎหมายคงไม่ได้หรอก