วันนี้ (4 พฤษภาคม 2560) เวลา 13.10 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “อาคารเฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งเป็นอาคารผู้ป่วยใน โรงพยาบาลภูเขียว อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยมี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูเขียว ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และประชาชนเฝ้ารับเสด็จฯ
นายแพทย์สุวรรณชัยกราบทูลรายงานว่า โรงพยาบาลภูเขียวเฉลิมพระเกียรติ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เปิดดำเนินการรักษาผู้ป่วยครั้งแรกปีพุทธศักราช 2510 เป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง ปัจจุบันพัฒนาเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 300 เตียง ดูแลประชาชนในอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอใกล้เคียง
ปัจจุบันมีผู้ป่วย รวมทั้งพระภิกษุสามเณร ทั้งอำเภอภูเขียว และอำเภอใกล้เคียง เข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จนบางครั้งพระภิกษุสามเณร ต้องนอนปะปนกับผู้ป่วยทั่วไป
นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อว่า หลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม วัดป่าห้วยกุ่ม อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ได้ทราบถึงความลำบากของผู้มารับบริการ จึงให้ความเมตตาเป็นองค์อุปถัมภ์ในการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน เพื่อสนับสนุนการให้บริการที่เหมาะสมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ และบุคคลทั่วไป
โดยมีคณะลูกศิษย์หลวงพ่อสายทอง และประชาชน ร่วมบริจาคและจัดทอดผ้าป่าสมทบทุนในการก่อสร้างอาคาร โดยใช้แบบอาคารผู้ป่วยใน แบบเลขที่ 8829 ของกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
อาคารเฉลิมพระเกียรติ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 5 ชั้น ชั้นที่ 1 หอผู้ป่วยหนัก ICU 10 เตียงNICU 4 เตียง PICU 2 เตียง ห้องพิเศษ 3 ห้อง ชั้นที่ 2 หอผู้ป่วยกุมารเวช 32 เตียง ชั้นที่ 3 หอผู้ป่วยสูติ-นรีเวชกรรม 32 เตียง ชั้นที่ 4 ห้องพิเศษ 13 ห้อง ชั้นที่ 5 หอผู้ป่วยพิเศษสงฆ์อาพาธและพิเศษทั่วไป 13 ห้อง รวมมูลค่าอาคารสิ่งก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์สำนักงาน ทั้งสิ้น 80 ล้านบาท
เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2557 แล้วเสร็จวันที่ 1 ธันวาคม 2558 โรงพยาบาลภูเขียวเฉลิมพระเกียรติ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่ออาคารดังกล่าวว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ” พร้อมอันเชิญตราสัญลักษณ์ งานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประดิษฐานบนอาคารดังกล่าว อาคารใหม่นี้จะทำให้การบริการ พระภิกษุสงฆ์ และบุคคลทั่วไปเป็นสัดส่วนเหมาะสมมากขึ้น
ปัจจุบันโรงพยาบาลภูเขียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 300 เตียง ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป รับผิดชอบดูแลสุขภาพประชากรในเขตอำเภอภูเขียว และพื้นที่อำเภอใกล้เคียง รวม 4 อำเภอ
ได้แก่ อำเภอภูเขียว คอนสาร เกษตรสมบูรณ์ และบ้านแท่น รับผิดชอบประชากรประมาณ 350,000 คน มีผู้ป่วยนอกรับบริการปีละ 256,000 ราย เฉลี่ย 904 รายต่อวัน และมีผู้ป่วยในประมาณ 204 รายต่อวัน
เวลา 10.20 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “อาคารไวทยรัตน์” ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ โดยมีนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชัยภูมิ ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และประชาชนเฝ้ารับเสด็จฯ
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กราบทูลรายงานว่า การขาดแคลนแพทย์โดยเฉพาะในชนบทเป็นปัญหาสำคัญของชาติ อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 2,057 ขณะที่เขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์ และบุรีรัมย์ มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 4,225 น้อยกว่าอัตราส่วนระดับประเทศ
โดยจังหวัดชัยภูมิ มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 5,077 คน ซึ่งน้อยที่สุดในเขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ จัดทำโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท
เริ่มรับนักศึกษาแพทย์ตั้งแต่ปีการศึกษา 2538 นับจนถึงปัจจุบันมีนักศึกษาแพทย์จบการศึกษาแล้ว 16 รุ่นจำนวน 6,955 คน ซึ่งมีคุณภาพเท่าเทียมกับการผลิตแพทย์แบบดั้งเดิม ทั้งยังมีความผูกพันกับชุมชน สามารถทำงานในชุมชนอย่างมีความสุข เห็นได้จากมีอัตราคงอยู่ในชุมชนสูงกว่าการผลิตแพทย์แบบดั้งเดิม
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลชัยภูมิเป็นโรงพยาบาลขนาด 600 เตียง ให้บริการผู้ป่วยนอกประมาณวันละ 1,766 คน ซึ่งเป็นจำนวนผู้ป่วยที่เหมาะในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ จำนวน 61 คน สามารถทำหน้าที่อาจารย์แพทย์ไปพร้อมกับการบริบาลผู้ป่วย จึงมีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนในชั้นคลินิก ขณะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรานารีตั้งอยู่ในเขตสุขภาพเดียวกัน มีความพร้อมที่จะจัดการเรียนการสอนในชั้นปรีคลินิก
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับสำนักวิชาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกในโรงพยาบาลชัยภูมิขึ้น เป็นแห่งที่ 37 ภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทและได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 131 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกสูง 7 ชั้น
ประกอบด้วย ห้องเรียน ห้องประชุม ห้องสมุด ห้องหุ่นจำลองทางการแพทย์ และหอพักนักศึกษาแพทย์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่ออาคารดังกล่าวว่า “อาคารไวทยรัตน์” พร้อมทั้งเชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ป้ายชื่ออาคาร ทั้งนี้เพื่อใช้ในการผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานและผูกพันกับชุมชน เติมเต็มในระบบบริการสุขภาพของไทย นำไปสู่ความเสมอภาคการบริการทางสังคม
ที่ผ่านมาโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ.2556-2560 ได้ผลิตแพทย์เพิ่มจากระบบปกติอีก 9,039 คน โดยเป็นโครงการผลิตแพทย์เพิ่มของกระทรวงศึกษาธิการ 4,038 คน และผลิตแพทย์ชนบทเพิ่มของกระทรวงสาธารณสุข 5,001 คน รองรับการขยายการให้บริการทางด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข
ของประเทศไทย ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีแพทย์ในสังกัดจำนวน 15,403 คนเฉลี่ยแพทย์ 1 คนดูแลประชากร 4,155 คน เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ คือใน พ.ศ. 2566 จะทำให้ภาพรวมสัดส่วนการดูแลของแพทย์ต่อประชาชนดีขึ้น ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1,500 คน