ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 8 พฤษภาคม 2560 )  นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ระหว่างปี พ.ศ.2556–2559 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์   ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานต่างๆ ในการเฝ้าระวังการใช้ยาแผนปัจจุบันในอาหาร  จำนวน 6 กลุ่ม 14 ชนิดตัวยา

ได้แก่ กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ( ซิลเดนาฟิล, ทาดาลาฟิล และวาร์เดนาฟิล ) กลุ่มยาลดความอ้วน (เอฟีดรีน, ออลิสแตท, เฟนเทอร์มีน และไซบูทรามีน) กลุ่มยาลดความอยากอาหาร (เฟนฟลูรามีน) กลุ่มยาระบาย (ฟีนอล์ฟทาลีน) กลุ่มยาสเตียรอยด์ (เดกซาเมธาโซน และเพรดนิโซโลน)

กลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์ (อัลปราโซแลม, ไดอะซีแพม และลอราซีแพม) ในตัวอย่างกาแฟสำเร็จรูปชนิดผง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งสิ้น 1,603 ตัวอย่าง

ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ยังคงตรวจพบการปนปลอมของยาแผนปัจจุบันเหล่านี้ ผู้บริโภคจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาที่พบทั้งชนิดเดียวและพบร่วมกัน 2 ชนิด

โดยยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ เช่น มีอาการหัวใจวาย เส้นโลหิตในสมองแตก หัวใจเต้นผิดปกติ เลือดออกในสมองหรือปอด ความดันโลหิตสูง และเสียชีวิตเฉียบพลัน ไซบูทรามีนทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจวายและเส้นโลหิตในสมองแตก

ส่วนออลิสแตทอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์ เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ไม่สามารถกลั้นอุจจาระและขาดสารอาหาร เป็นต้น ดังนั้นการดูแลรักษาสุขภาพที่เหมาะสมควรทำด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์  ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร งดหวาน มัน เค็ม

นอกจากนี้อาหารที่มีการปนปลอม ยาแผนปัจจุบันจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหากผู้บริโภคสนใจจะใช้อาหารเสริมดังกล่าว  จำเป็นต้องมีความรู้และใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ เลือกผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้  มีคำรับรองจาก อย. และไม่หลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หากมีอาการผิดปกติให้หยุดรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มถึงผลการตรวจวิเคราะห์โดยละเอียด ดังนี้ กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง จำนวน 462 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตรวจวิเคราะห์ 130 ตัวอย่าง พบซิลเดนาฟิล 33 ตัวอย่าง  ทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 26.2) กลุ่มยาลดความอ้วน ตรวจวิเคราะห์ 344 ตัวอย่าง พบไซบูทรามีน 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 13.7)

กลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์ ตรวจวิเคระห์ 183 ตัวอย่าง พบลอราซีแพม 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 0.5) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 1,034 ตัวอย่าง จำแนกเป็น

กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตรวจวิเคราะห์ 287 ตัวอย่าง พบซิลเดนาฟิล 86 ตัวอย่าง ทาดาลาฟิล 6 ตัวอย่าง ซิลเดนาฟิลร่วมกับทาดาลาฟิล 24 ตัวอย่าง และซิลเดนาฟิลร่วมกับวาร์เดนาฟิล 7 ตัวอย่าง รวม 123 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9)

กลุ่มยาลดความอ้วน ตรวจวิเคราะห์ 187 ตัวอย่าง พบออลิสแตท 22 ตัวอย่าง (ร้อยละ 11.8) และตรวจวิเคราะห์ 849 ตัวอย่าง พบไซบูทรามีน 163 ตัวอย่าง (ร้อยละ 19.2)

กลุ่มยาลดความอยากอาหาร ตรวจวิเคราะห์ 245 ตัวอย่าง พบเฟนฟลูรามีน 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 0.4) กลุ่มยาระบาย พบฟีนอล์ฟทาลีน1 จาก 245 ตัวอย่าง  (ร้อยละ 0.4) กลุ่มยาสเตียรอยด์ ตรวจวิเคราะห์ 103 ตัวอย่าง พบเดกซาเมธาโซน 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 1.9)

และมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตรวจพบว่า มียาแผนปัจจุบัน 2 กลุ่ม จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ไซบูทรามีนร่วมกับทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง และไซบูทรามีนร่วมกับฟีนอล์ฟทาลีน 2 ตัวอย่าง และยากลุ่มเดียวกัน 2 ชนิด ได้แก่ไซบูทรามีนร่วมกับออลิสแตท 3 ตัวอย่าง  เครื่องดื่ม (เครื่องดื่มอื่นนอกเหนือจากกาแฟ ชา ชาสมุนไพร ตามพระราชบัญญัติอาหาร)

เช่น โกโก้ผง เครื่องดื่มผงผสมคอลลาเจน เครื่องดื่มคลอโรฟิลล์ เครื่องดื่มสมุนไพร เป็นต้น จำนวน 66 ตัวอย่าง จำแนกเป็นกลุ่มยาสเตียรอยด์ ตรวจวิเคราะห์ 41 ตัวอย่าง พบเดกซาเมธาโซน 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14.6)

และอาหารอื่นๆ ได้แก่ ชาสมุนไพร ข้าวกล้องงอก และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น สารให้กลิ่นรส น้ำตาลมอลโตส สารโคคิวเท็น เป็นต้น จำนวน 41 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยาลดความอ้วน ตรวจวิเคราะห์ 9 ตัวอย่าง พบออลิสแตท 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 11.1) 

เรื่องน่าสนใจ