ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 12 พฤษภาคม 2560 )  นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะเดินทางเยี่ยมชมการเรียนการสอน  ของภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ฯ พร้อมด้วยคณาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ให้การต้อนรับ

การเยี่ยมชมการเรียนการสอนของภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว นับเป็นความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ให้มีคุณภาพที่จะทำให้การดูแลประชาชนมีประสิทธิภาพ ในระดับปฐมภูมิ

ที่ผ่านมาทางคณะแพทยศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประมาณ 100 กว่าคน ด้วยทีมอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่มีคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อน งานคลินิกหมอครอบครัว ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีเป้าหมายจะผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวได้ครบ 6,500 ทีม อีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อดูแลคนไทย 65 ล้านคน

โดยกำหนด 1 ทีมดูแลประชาชน 10,000 คน ที่จะทำให้คนไทยทุกคนมีทีมหมอครอบครัวเป็นหมอประจำบ้าน ให้คำแนะนำดูแลสุขภาพ ไม่ใช่แค่รักษาโรคเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการรักษาทุกมิติของคนในครอบครัว ซึ่งเป็นที่น่ายินดี ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รับเป็นคู่ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ยินดีให้การสนับสนุนการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

ทั้งเป็นแหล่งฝึกงาน เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ พัฒนาทักษะความเป็นครูพี่เลี้ยงให้ผู้เข้ารับการอบรม การเรียนการสอนในสถาบันสมทบ เป็นต้น

ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข จะได้นำข้อมูลจากดูงานครั้งนี้ไปปรับปรุง ระบบการทำงาน การเรียนการสอนของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ทำให้ประชาชนได้รับรู้และรู้จักแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมากขึ้น และทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จะเป็นศูนย์ความร่วมมือที่จะช่วยให้การพัฒนางานปฐมภูมิคลินิกหมอครอบครัวของกระทรวงสาธารณสุขได้มาก

ในเบื้องต้นจะสนับสนุนคลินิกหมอครอบครัว(PCC)ในเขตสุขภาพที่ 3 ประกอบด้วยจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ชัยนาท และอุทัยธานี และจะได้ขยายความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในเขตสุขภาพอื่นต่อไป รวมทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ทั้งการผลิต การศึกษาต่อเนื่อง กำลังคนและการกระจายตัว

ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข มีคลินิกหมอครอบครัว 48 ทีม ใน 16 จังหวัด โดยเน้นในพื้นที่ที่มีความพร้อมเพื่อให้มีคลินิกหมอครอบครัวที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ

อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขยังได้ต่ออายุราชการให้กับแพทย์เกษียณอายุราชการ  ในปีงบประมาณ 2560 ที่สมัครใจรับราชการต่อ โดยให้อบรมระยะสั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวตามหลักสูตรมาตรฐาน เพื่อประจำ คลินิกหมอครอบครัว (PCC)  และกลับไปทำงานในคลินิกหมอครอบครัวในแต่ละพื้นที่  

คลินิกหมอครอบครัว ( Primary care cluster ) หมายถึง การรวมกลุ่มหน่วยบริการปฐมภูมิให้เป็นเครือข่ายการดูแลประชาชนที่อยู่ในเขตรับผิดชอบร่วมกัน เป็นการประจำต่อเนื่อง ด้วยทีมสหวิชาชีพ เพื่อเพิ่มคุณภาพให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกันและให้มีการบริหารจัดการ ใช้ทรัพยากรร่วมกันในกลุ่มปฐมภูมินั้นๆ ทั้งนี้อาจเป็นการรวมกลุ่มหน่วยบริการเดิมหรือจัดตั้งหน่วยบริการใหม่เสริม เพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน

หน่วยบริการปฐมภูมิในการจัดหน่วยบริการให้ยึดจำนวนประชากรเป็นหลัก 1 Cluster โดย สามารถประกอบด้วย 1-3 ศูนย์ขึ้นกับบริบทของพื้นที่ ( ให้ยึดเป้าหมายการเข้าถึงบริการเป็นสำคัญ ) ใน กรณีที่สำคัญ เขตที่ตั้งของโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป สามารถจัดบริการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คลินิกเอกชนได้

หรือในพื้นที่ประชากรเบาบางอาจมีการจัดบริการร่วมระหว่างศูนย์สุขภาพชุมชนของโรงพยาบาลแม่ข่ายกับพื้นที่ดูแลของสาธารณสุขอำเภอ คือ รพ.สต. ในเครือข่ายก็ได้

ในการดำเนินการของกลุ่มหน่วยปฐมภูมิ (Cluster) ให้ ดำเนินการจัดบริการเป็นภาพรวมยึดหลักการ ดูแลตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัว สร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จ าเป็นและสร้างความเข้าใจให้กับ ประชาชนและชุมชนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของนโยบายนี้

ส่วน ความแตกต่างจาก ศูนย์สุขภาพเดิม หรือ รพ.สต. เดิม นั้น คลินิกหมอครอบครัว ก็คือต่อยอด ให้มี แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว และทีม ที่ มีความครบถ้วนมากขึ้น เรียกได้ว่ายกระดับ ศูนย์สุขภาพเดิม หรือ รพ.สต.เดิม ให้เป็นระดับพรีเมี่ยม และปรับระบบการดูแลสุขภาพเป็นการร่วมกันระหว่าง ประชาชนกับทีมหมอครอบครัว ช่วยกันดูแลสุขภาพด้วยระบบเวชศาสตร์ครอบครัวต่อเนื่อง ที่มีหมอประจำครอบครัวเป็นหมอคนแรก

เรื่องน่าสนใจ