นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าในปีนี้กรมสุขภาพจิตได้ปรับกลยุทธ์ในการป้องกันและการแก้ไขสถานการณ์ปัญหานักเรียนและวัยรุ่นซึ่งกำลังทวีความรุนแรงขึ้น
โดยจัดหลักสูตรอบรมออนไลน์ พัฒนาความรู้ความสามารถบุคลากรสายสาธารณสุขและครูอาจารย์ ที่ให้บริการในศูนย์ให้คำปรึกษานักเรียนวัยรุ่น ( Psychosocial care) ในโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตสุขภาพกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นบริการเชื่อมโยงกับโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อดูแลนักเรียนและวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิตและมีผลกระทบต่อการเรียน
ทั้งนี้เพื่อให้บุคลากรเข้าถึงความรู้ที่ทันสมัย ไม่ต้องลาเรียน ทุกคนมีโอกาสเรียนรู้เท่ากันกับอาจารย์สอนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆโดยตรง สามารถนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติงานได้เลย ได้มอบนโยบายให้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ดำเนินการ และติดตามประเมินผลเพื่อพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“ผลสำรวจปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพปีที่ 1-3 อายุ13-17 ปี โดยกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2559 พบว่า นักเรียนร้อยละ 15 มีโรคทางจิตเวชอย่างน้อย 1 โรค
เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้น พฤติกรรมผิดปกติ นอกจากนี้ยังพบมีความผิดปกติของพฤติกรรมจากสารเสพติดร้อยละ 15.6 ที่พบมากคือดื่มสุรา และพบเคยพยายามทำร้ายตัวเองร้อยละ 0.4 รวมทั้งวัยรุ่นหญิงมีอัตราการตั้งครรภ์ 47 คน ในกลุ่มวัย15-19 ปีทุกๆ 1,000 คน
ปัญหาเหล่านี้ถึอเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เด็กวัยนี้ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต มีปัญหาการเรียน ก้าวร้าวรุนแรง ใช้สารเสพติด กระทำผิดกฎหมาย มีผลต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ จึงต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรการให้บริการปรึกษา สามารถค้นหาปัญหา และนำไปสู่การแก้ไขป้องกันที่ต้นเหตุอย่างทันท่วงที ลดความสูญเสียทั้งต่อระดับบุคคลและประเทศชาติ ”อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า หลักสูตรอบรมการให้บริการคำปรึกษาวัยรุ่นออนไลน์ที่จัดในปี2560 นี้ มีทั้งหมด 14 หลักสูตร มี 2 ระดับ ระดับต้นมี 6 หลักสูตร
อาทิ ความรู้เกี่ยวกับวัยรุ่น เทคนิคการสร้างสัมพันธภาพกับวัยรุ่น การให้การปรึกษาวัยรุ่นพื้นฐาน การวิเคราะห์ปัญหาทางจิตสังคมวัยรุ่น เป็นต้น ผู้ปกครอง และอสม.สามารถเรียนหลักสูตรนี้ได้ เพื่อเพิ่มความเข้าใจพัฒนาการวัยรุ่น และเสริมทักษะสื่อสารกับวัยรุ่นสมัยใหม่ได้ดียิ่งขึ้น และระดับสูงมี 8 หลักสูตรสำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานในด้านนี้ เพื่อเพิ่มทักษะความเชี่ยวชาญแต่ละเรื่อง
ได้แก่ การให้บริการปรึกษาวัยรุ่นที่มีปัญหาซึมเศร้า ความรุนแรง ยาเสพติด ติดเกม ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การปรึกษาครอบครัวที่มีลูกวัยรุ่น การบริการปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการให้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์และทางสื่อโซเชียล แต่ละหลักสูตรจะมีอาจารย์เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาจากสถาบันทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้สอนผ่านทางระบบวิดีทัศน์
“การเรียนรู้ตามหลักสูตรดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1. เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านออนไลน์ 2.ฝึกทักษะกระบวนการให้คำปรึกษาวัยรุ่นกับผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่นสังกัดกรมสุขภาพจิต 4 แห่ง
คือที่จ. ขอนแก่น เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และ กทม. ใช้เวลา 1 สัปดาห์ และ3.ฝึกปฏิบัติงานจริง ณ ที่ทำงานของตนเองเป็นเวลา 1 เดือน โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่นฯทั้ง 4 แห่ง เป็นที่ปรึกษา ” แพทย์หญิง มธุรดากล่าว
นอกจากนี้สถาบันฯยังได้พัฒนาโปรแกรมแบบประเมินสุขภาพจิตวัยรุ่นในระบบออนไลน์ เป็นแบบประเมินทางจิตวิทยาทันสมัยได้มาตรฐานสากล
เช่นแบบทดสอบพฤติกรรมการติดเกม สมาธิสั้น การประเมินภาวะซึมเศร้า การคัดกรองประสบการณ์การใช้สิ่งเสพติด ความเสี่ยงทำร้ายตัวเอง และการประเมินพฤติกรรมของวัยรุ่น ซึ่งครูและบุคลากรสาธารณสุขสามารถใช้แก้ปัญหาและวางแผนส่งเสริมป้องกันที่ต้นเหตุ และใช้ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
ขณะนี้หลักสูตรอบรมออนไลน์ ได้รับความสนใจจากบุคลากรหลายสาขา เช่นพยาบาล ครู นักพัฒนาชุมชนและเครือข่ายทำงานกับวัยรุ่น ลงทะเบียนเรียน 1,052 คน แต่ละหลักสูตรใช้เวลาเรียนประมาณ 1 เดือน
ขณะนี้จบไปแล้วกว่า 300 คน ผลการประเมินพบว่าผู้เรียนพึงพอใจมาก เพราะเรียนได้ทุกที่ ไม่จำกัดเวลา โดยบุคลากร ผู้ปกครองที่มีลูกวัยรุ่น และอสม.ที่สนใจ สามารถสมัครเรียนได้ที่ www.thaiteentraining.com รับไม่จำกัดจำนวน และไม่มีค่าใช้จ่าย เมื่อเรียนจบหลักสูตรและสอบผ่านการประเมิน ผู้เรียนจะได้รับใบประกาศนียบัตรหลักสูตรอบรมการให้บริการคำปรึกษาวัยรุ่นออนไลน์ทันที แพทย์หญิงมธุรดากล่าว