ผู้สื่อข่าวโดดเด่นรายงานว่า วันนี้ ( 26 มิ.ย.) นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดของสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ในปีงบประมาณ 2559 พบว่า มีการให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยในมากที่สุด 3 ลำดับแรก
ได้แก่ ยาบ้า จำนวน 2,376 ราย คิดเป็นร้อยละ 40.26 รองลงมา คือ สุรา จำนวน 1,182 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.03 และ ยาไอซ์ จำนวน 663 ราย เป็นวัยรุ่นส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 11.24 ( ยอดผู้เข้ารับการบำบัดรักษาทั้งหมดของสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี จำนวน 5,901ราย เป็นเพศชาย 5,105 ราย และเพศหญิง 796 ราย )
ซึ่งการออกฤทธิ์ของยาเสพติด แบ่งเป็น 1.ยาเสพติดประเภทกดประสาท ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน สารระเหย และยากล่อมประสาท 2.ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ได้แก่ แอมเฟตามีน (ยาบ้า) กระท่อม โคเคน 3.ยาเสพติดประเภทหลอนประสาท ได้แก่ แอลเอสดี ดีเอ็มพี และเห็ดขี้ควาย
4.ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน ได้แก่ กัญชา ยาอี สาเหตุส่วนใหญ่ของผู้ใช้ยาเสพติดเกิดจากอยากรู้ อยากลอง คึกคะนอง เพื่อนชวน หรือต้องการให้เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มเพื่อน มีความเชื่อในทางที่ผิด เช่น เชื่อว่ายาเสพติดบางชนิดอาจช่วยให้สบายใจ ลืมความทุกข์ ช่วยให้ทำงานได้มาก และถูกหลอกให้ใช้ยาเสพติดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ทั้งนี้ กรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหลักในการบำบัดรักษาผู้เสพและผู้ติดยาและสารเสพติดโดยมีการดำเนินการที่สำคัญ คือ การคัดกรอง จำแนกความรุนแรงของการเสพติด และการเจ็บป่วยทางกายทางจิต เพื่อช่วยเหลือและบำบัดรักษา
การบำบัดรักษา กำหนดมาตรฐานและพัฒนาระบบบริการ การบำบัดรักษาฟื้นฟูและส่งเสริมให้หยุดยาเสพติดต่อเนื่อง สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข สนับสนุนวิชาการด้านการบำบัดรักษา สร้าง พัฒนาองค์ความรู้ อบรม และถ่ายทอดแก่บุคลากรทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับแนวทางห่างไกลยาเสพติด เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เพราะยาเสพติดเลิกไม่ยากและเลิกได้ โดยเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก หากมีความเครียดควรทบทวนหาสาเหตุ คุยกับเพื่อน หรือบุคคลที่เราไว้วางใจ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขร่วมกัน ปรับปรุงสถานที่ให้เหมาะสม
ทั้งบ้าน ที่ทำงานให้บรรยากาศดีขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในบ้าน ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ พักผ่อนหย่อนใจ โดยหางานอดิเรกทำ เช่น ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง อ่านหนังสือ ดูทีวี ท่องเที่ยว งดสูบบุหรี่และดื่มสุรา ไม่เล่นการพนัน และไม่สำส่อนทางเพศ
ที่สำคัญคือยอมรับสภาพความเป็นจริงของชีวิต และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเท่าที่ทำได้เพื่อให้ชีวิตดีขึ้น ไม่ท้อถอย สร้างความเชื่อมั่นในตนเอง มองตนเองว่ามีคุณค่า มีความสามารถ มีศักดิ์ศรี และภาคภูมิใจในตนเอง
นอกจากนี้ ควรมองโลกในแง่ดี คิดทางบวกเป็นความคิดที่นำความสุขมาสู่ตน ผู้ที่มีปัญหาสามารถโทรปรึกษาและขอข้อมูลได้ที่สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาค 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น ปัตตานี แม่ฮ่องสอน และอุดรธานี