เนื้อหาโดย Dodeden.com
ความร้อนระอุในบ้านเราอาจเรียกได้ว่า เป็นเมืองที่อากาศร้อนจัดและมีอุณหภูมิสูง ถึงเเม้ว่าจะอยู่ในช่วงหน้าในหรือหน้าหนาวก็ตาม จนสาวๆ อย่างเราแทบจะละลายหายไปกับแสงแดด โดยเฉพาะสถานการณ์โลกร้อนที่ทําให้อากาศเมืองไทยมีแนวโน้มร้อนจัดขึ้นทุกปี จนก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด อย่างเช่น โรคลมแดดหรือ Heat Stroke ซึ่งปัจจุบันพบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคนี้เป็นประจำทุกปี
โรคลมแดดเป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยภายนอก คืออากาศข้างนอกร้อนจัดและมีอากาศชื้นร่วมด้วย จนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน ซึ่งปกติแล้วร่างกายเราจะทํางานที่อุณหภูมิ 36-38 องศา ถ้าเกินกว่านี้ หรือ 39-40 ขึ้นไป อวัยวะภายในจะเริ่มล้มเหลว เช่น ไตทํางานผิดปกติ หัวใจเต้นผิดปกติ มีอาการทางสมอง คือสมองตอบสนองช้าลง ในรายที่เป็นหนักๆ จะมีอาการซึม ชักเกร็งจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะช่วงที่มีการฝึกทหารเกณฑ์ใหม่ จะพบถูกนํามาส่งโรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ รวมทั้งผู้ที่ไปออกกําลังกายกลางแจ้งหรือพวกนักวิ่งมาราธอน ที่ร่างกายยังไม่ได้ฝึกมาเพียงพอ ก็จะพบว่าเป็นโรคลมแดดได้บ่อยเช่นกัน
จากข้อมูลของสํานักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคลมแดดเป็นจํานวน 34 คน โดยกลุ่มโรคลมแดด ในทางการแพทย์สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
โรคลมแดดจากการออกกำลังกาย (Exertional Heat Stroke หรือ EHS) มักพบในกลุ่มที่มีร่างกายแข็งแรง มาก่อน เช่น เด็กโต วัยรุ่น นักกีฬา ทหารเกณฑ์ที่ฝึกท่ามกลางอากาศร้อนจัด หรือผู้ที่ออกกําลังกายหักโหมเกินไป เมื่อต้องออกไปเผชิญกับภาวะอุณหภูมิสูงจัดจากภายนอก ก็สามารถเป็นโรคลมแดดได้โดยไม่รู้ตัว อีกกลุ่มหนึ่งที่พบได้คือ
โรคลมแดดทั่วไป (Non- Exertional Heat Stroke หรือ NEHS) ซึ่งมักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง และคนที่ต้องกินยารักษาโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน ความดัน และยาทางจิตเวชบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดความร้อนในร่างกายสูง รวมทั้งกลุ่มเด็กเล็กที่ระบบการปรับอุณหภูมิในร่างกายยังไม่ดีนัก ตลอดจนผู้ป่วยเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กลุ่มคนที่ใช้สารเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ และยานอนหลับ รวมไปถึงคนที่อดนอนเป็นประจํา ก็อาจเสี่ยงกับการเป็นโรคลมแดดได้เช่นกัน
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าภัยจากความร้อนภายนอก นอกจากจะทําให้ผิวเราแห้งผากและคล้ำลงแล้ว ยังส่งผลให้ระบบการทํางานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายล้มเหลวได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ร่างกายของเราไม่สามารถปรับอุณหภูมิได้ดี หรือไม่สามารถระบายเหงื่อให้ออกมาได้ทัน ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นคือ แม้แต่คนที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้อย่างฉับพลันโดยไม่ทันตั้งตัว แล้วสัญญาณแบบไหนล่ะที่เข้าข่ายของอาการโรค?
จริงๆ แล้วโรคจากความร้อนหรือโรคลมแดดนั้นมีหลายระดับ หากเป็นไม่มากจะมีอาการตั้งแต่ แขนขาบวม มือบวม อ่อนเพลีย ชาๆ เป็นตะคริว มีอาการเหมือนคนขาดน้ำ หากเป็นหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีอาการเบลอ ๆ สมองทํางานช้าลง เพราะเมื่อความร้อนสูงขึ้นเรื่อย ๆ จะทําให้สมองเสียหายและมีโอกาสเสียชีวิตได้ หากนําไปส่งโรงพยาบาลไม่ทัน สําหรับอาการวูบ ถือเป็นหนึ่งในอาการของโรคลมแดดได้เช่นเดียวกัน แต่วูบหน้ามืดเป็นลมอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เป็นจากลมแดดก็ได้ มีภาวะขาดน้ำ หรือวูบเพราะสภาพจิตใจ เป็นต้น
สําหรับวิธีป้องกันตัวจากโรคลมแดดนั้น ผู้ที่ไม่คุ้นชินกับการทํางานกลางแจ้งหรือการออกกําลังกลางแจ้งบ่อยๆ ให้หลีกเลี่ยงการออกไปอยู่กลางแดด หรือหากจําเป็นต้องทํางานกลางแจ้ง ควรจะมีช่วงเวลาพักเบรกในที่โล่งๆ ดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อลดอุณหภูมิร้อนในร่างกายไม่ให้เกินกว่าอากาศภายนอก เด็กเล็กหรือผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการออกไปอยู่กลางแจ้งช่วงกลางวัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อากาศร้อนมากๆ ถึงเเม้ว่าจะไม่ใช่หน้าร้อนก็ตาม
นอกเหนือจากนี้ เมื่อมีคนใกล้ตัวเป็นโรคลมแดด หากผู้ป่วยมีอาการเบื้องต้น หรือเป็นในระยะแรกๆ เช่น อ่อนเพลีย ชา หรือเป็น ตะคริว ควรให้ผู้ป่วยหยุดพักจากกิจกรรมทั้งหมด จากนั้นคลายเสื้อผ้าออกให้พอหลวม เพื่อระบายอากาศและช่วยให้อากาศถ่ายเทสะดวก เป่าด้วยพัดลมได้ยิ่งดี ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนักอาจใช้ฟ็อกกี้พ่นให้เป็นละอองน้ำเกาะอยู่บนผิว แล้วจึงเปิดพัดลมเพื่อให้อากาศไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น วิธีนี้จะช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว แล้วอาการก็จะดีขึ้น จากนั้น ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่ตาม อย่างไรก็ตาม หากเป่าลมแล้วอาการยังไม่ดี มีอาการเกร็งหรือแย่ลง เช่น เริ่มเบลอ ไม่รู้สึกตัว ต้องรีบพาส่งโรงพยาบาลทันที เพราะอาจมีโอกาสเสียชีวิตได้