กระแสโรคซึมเศร้า ถูกยกมาเป็นประเด็นพูดคุยอย่างกว้างขวาง นอกจากความง่ายในการเข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้านี้แล้ว หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงภาวะจมดิ่งนี้ น่าจะมาจากกรณีการตัดสินใจจบชีวิตตนเองของนักร้องชื่อดังระดับโลก
ที่ผ่านมาเราจะพบว่าผู้ที่ป่วยโรคซึมเศร้า เกิดขึ้นได้ในการใช้ชีวิตแบบสังคมเมือง หรือการใช้ชีวิตในสังคมทุนนิยม ที่มีความกดดัน การแข่งขันสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป้าหมายตัวเดียว คือ “การหาเงิน”
แม้ เงินเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นปัจจัยในการแลกเปลี่ยนสิ่งที่ต้องการ ความต้องการเบื้องต้นของมนุษย์พื้นฐาน ทำให้คนเราเกิดความเครียดสะสม มากเข้ามากเข้า ระบบคิด ระบบในสมองก็รวน กลายเป็นความเครียดสะสม แล้วก็กลายเป็น “โรคซึมเศร้า” ตามมา
บางครั้งเรามักจะเกิดมายาคติเกี่ยวกับ “โรคซึมเศร้า” เพราะคิดว่ามันแค่เป็นอาการเครียด ปล่อยไปสักพักก็หาย ไม่ต้องไปพบหมอ กระทั่งอาการเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ จาก “โรคซึมเศร้า” พัฒนากลายเป็นโรคแพนิค ซึ่งอาการกำเริบหนักมากกว่า จนกระทั่งกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันได้
“รู้สึกเบื่อ หดหู่ ท้อแท้ ตกใจง่าย ระแวง อยากนอน ดูทีวีก็หงุดหงิด ฟังเพลงที่ชอบก็รำคาญ นอนไม่หลับ จนอาการพีคไปถึงขั้นแขนขาชา แน่นหน้าอกเหมือนกำลังจะตาย วิญญาณจะออกจากร่าง เหงื่อออก มือสั่น ขี้เกียจทำงาน ทั้งๆ ที่แต่ก่อนนี้ บ้าทำงานอย่างหนัก รู้สึกมีความสุขที่ได้ทำงาน กลายเป็นคนที่ไม่รู้สึกมีความสุขใดๆ เลย”
เรื่องจริง ชีวิตจริง ของชายหนุ่มวัยทำงาน ในสายอาชีพนักข่าว ป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” กระทั่งพัฒนากลายเป็น “โรคแพนิค” อดทน ไม่ไปหาหมอ คิดว่าหายเองได้ แต่ทนไม่ไหว จนต้องหามตัวเองไปพบหมอ ซึ่งก็ตัดสินใจนานมาก เพราะการไปพบจิตแพทย์ยังคงเป็นมายาคติอยู่
ลำดับแรกการนำตัวไปหาหมอ ซึ่งต้องไปคนเดียว เพราะไม่ต้องการบอกใคร ปกปิดเป็นความลับ เริ่มต้นด้วยการนั่งแท็กซี่ บอกโชเฟอร์ว่า ไปโรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งก็เจอแท็กซี่หัวเราะใส่อีก จนต้องขอลงที่แยกแคราย
พอไปถึงโรงพยาบาล ก็เจอคนรู้จักเข้ามาทักทาย จนต้องบอกว่ามาคุยงาน กว่าจะชั่งน้ำหนัก วัดความดัน ( ทำเอง ) สติตอนนั้นไม่พร้อมอย่างยิ่ง แต่ก็ฝืนทำไป พอพยาบาลเรียกตรงจุดคัดกรอง สอบถามอาการก็นานหลายนาที ซึ่งการซักอาการที่เคาเตอร์เบอร์ 1 เบอร์ 2 เวลานานไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่มันเสียงดังมาก บางคนก็เงี่ยหูฟังเรา ทำให้ผู้ป่วยบอกอาการไม่หมด ดังนั้นน่าจะมีห้องซักอาการจะดีกว่า
ขณะที่ขั้นตอนการพบแพทย์ค่อนข้างดี จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลศรีธัญญา จะเก่งมาก ทำให้จ่ายยาได้ตรงกับอาการ ส่วนการฉีดยาในกรณีที่ต้องการยาด่วน ไม่ค่อยเป็นระบบเท่าไหร่
เพราะผู้ป่วยต้องไปจ่ายเงิน รอรับเข็ม รับน้ำยามาเอง หากป่วยโรคอื่น ไม่ใช่ปัญหาเลย แต่ต้องบอกว่าผู้ป่วยจิตเวช แค่เดินก็สับสน ไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะเดินไปนั่น นี่ หรือ หากอาการแพนิคกำเริบตอนรอพบแพทย์ เจ้าหน้าที่ก็เรียกพยาบาลเสียงดัง คนไข้หันมามองกันเต็มไปหมด เราก็รู้สึกว่านี่ คนกำลังมองว่าอาการบ้าเรากำเริบแล้ว
สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการมากที่สุดคือ การรักษาด้วยความเป็นส่วนตัว และ หากเป็นไปได้ พวกซองยา บัตรผู้ป่วย ถุงยาต่างๆ ไม่อยากให้สกรีนลงไปเลย แม้ว่าเราจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับ “โรคซึมเศร้า” มากขึ้นแล้วก็ตาม
รวมทั้งการรอรับใบสั่งยาจากพยาบาลหน้าห้องแพทย์ นานมาก จากนั้นเดินไปยื่นใบสั่งยา รอคิวจ่ายเงิน และพอจ่ายเงินเสร็จก็มานั่งรอรับยาอีก หลายขั้นตอนมากๆ ทั้งๆ ที่ระบบเทคโนโลยีไปไกลมากๆ แล้ว
ขณะที่ นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกระแสข่าว โรคซึมเศร้าว่า โรคซึมเศร้า เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของประชาชน ส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก
โดยองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่า ประชากรมากกว่า 300 ล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า หากไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องนานเป็นเดือน เรื้อรังเป็นปี จะกลับเป็นซ้ำได้บ่อย หากอาการซึมเศร้ารุนแรง อาจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคนี้ 1.5 ล้านคน
อุปสรรคสำคัญหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการ คือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักและไม่เข้าใจถึงความสูญเสียที่เกิดจากการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ตลอดจนมีอคติต่อผู้ป่วย มองเป็นความขี้เกียจ อ่อนแอ ซึ่งในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น ซึมเศร้า เป็นความเจ็บป่วย พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ
สาเหตุมาจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การหลั่งฮอร์โมน การหลั่งสารสื่อประสาทผิดปกติ หรือ ปัจจัยภายนอก เช่น ความผิดหวัง ความสูญเสีย ความเครียด เมื่อปัจจัยเหล่านี้มารวมกัน ทำให้คนๆ นั้นเกิดภาวะซึมเศร้าได้ ความคิด ทัศนคติ การตัดสินใจ การมองโลก ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเปลี่ยนแปลงไป
สัญญาณบอกเหตุของโรคซึมเศร้า มี 9 ข้อ ได้แก่ 1.ซึมเศร้า ท้อแท้ เบื่อไม่อยากทำอะไร 2.ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง 3. ไม่มีสมาธิ4.อ่อนเพลีย 5.เชื่องช้า 6.รับประทานอาหารมากขึ้น หรือน้อยลง 7.นอนมากขึ้น หรือน้อยลง 8.ตำหนิตัวเอง และ 9.พยายามฆ่าตัวตาย
หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการ ข้อ 1 หรือ 2 ข้อใดข้อหนึ่ง ร่วมกับอาการในข้อ 3-9 อย่างน้อย 5 อาการ ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้า หากพบเห็น อย่าประมาท ควรพูดคุยกับเขา หรืออาจแนะนำให้เขาไปพบจิตแพทย์ ซึ่งควรเปลี่ยนทัศนคติที่ว่า ที่ไปพบจิตแพทย์ คือ คนเป็นบ้า เพราะการมีอคติเช่นนี้ จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าไปพบแพทย์ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและสุดท้ายจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย
นอกจากนี้ การแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายหรือโรคซึมเศร้า โดยไม่ได้คิดก่อนว่าจะกระทบกับผู้ใดหรือไม่นั้น อาจส่งผลกระทบกับผู้ที่มีปัญหาอยู่เดิม หรือ กลุ่มคนที่อ่อนไหว มีความเปราะบางทางจิตใจ ที่อาจคิดว่า อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์และตัดสินใจจบชีวิตในลักษณะเดียวกันได้
โรคซึมเศร้าจึงเป็นประเด็นทางสาธารณสุข ที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และมาตรการหนึ่งที่สำคัญที่ภาคประชาสังคมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ได้ คือ ร่วมกันรณรงค์สร้างความตระหนักเพื่อลดอคติและตราบาป และเพิ่มการเข้าถึงการรักษาทางจิตเวช เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องภาวะซึมเศร้าและอาการของโรค และรู้วิธีพื้นฐานในการรับมือและให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น