เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม แหล่งข่าวจากสำนักการโยธา กทม. เปิดเผยว่า จากการร่วมมือกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สุ่มตรวจอาคารทั้ง 9 ประเภท ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ได้ยื่นใบตรวจ โดยเฉพาะอาคารเสี่ยงภัย และอาคารสูงในย่านชุมชน พบว่า ร้อยละ 10 ของอาคารที่มีการสุ่มตรวจทุกอาทิตย์ พบปัญหากรณี ประตูหนีไฟชำรุด อาคารบางแห่งมีการล็อกประตูหนีไฟ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอาคารแจ้งเหตุผลว่า เพื่อความปลอดภัยของทรัยพ์สินในอาคาร ซึ่งถือว่าผิดข้อกำหนดของวสท. ที่ระบุว่าห้ามล็อกประตูหนีไฟในอาคาร เพื่อให้ประชาชนในอาคารสามารถอพยพได้ทันท่วงที กรณีที่มีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น
อีกทั้ง ยังพบว่า อาคารบางแห่ง มีปัญหาเกี่ยวกับเครื่องมือดับเพลิงไม่เพียงพอ หรือหมดอายุจนไม่สามารถใช้การได้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอาคารไม่รู้วิธีการใช้เครื่องมือดับเพลิง ซึ่งในส่วนนี้จะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย เป็นผู้อบรมต่อไป โดยทาง กทม.จะสุ่มตรวจอาคารเหล่านี้ทุกอาทิตย์ หากพบว่ามีข้อปฏิบัติ ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กทม.จะแจ้งให้เร่งทำการปรับปรุงแก้ไข ภายใน 30 วัน ก่อนทำการตรวจซ้ำ หากพบยังไม่มีการแก้ไขตามกำหนด ต้องมีการเอาผิดตามกฎหมายตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร โดยมีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 60,000บาท และปรับต่อเนื่องอีกวันละ 10,000บาท จนกว่าจะมีการแก้ไขเสร็จ และหากการแก้ไขไม่ถูกต้อง กทม.จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด โดยการสั่งระงับใช้อาคารต่อไป
แหล่งข่าวระบุอีกว่า ทางสำนักการโยธาขอความร่วมมือไปยังเจ้าของอาคารสูง ในการตรวจสอบสภาพความพร้อมของเครื่องมือดับเพลิงว่าสามารถใช้การได้อย่างปกติ หรือไม่ รวมทั้งติดตั้งเครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือตามชนิดและขนาดที่กำหนด โดยให้มี 1 เครื่องต่อพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 45 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง รวมทั้งให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลอาคารในการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น