เนื้อหาโดย Dodeden.com
หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในชีวิต เมื่อไหร่ก็ตามที่หัวใจทำงานผิดปกติไป ย่อมส่งผลต่อระบบการทำงานในร่างกาย ซึ่งในทุกวันนี้ โรคเกี่ยวกับหัวใจก็ถือว่าเป็นโรคที่ร้ายแรง หากรักษาได้ไม่ทันท่วงที ก็อาจจะเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย หายใจขัด ใจสั่น และเจ็บแน่นบริเวณหน้าอก จนถึงขั้นรุนแรงเป็นลมหมดสติ ให้คุณสันนิษฐานได้ว่านั่นคือสัญญาณของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือภาวะที่หัวใจเต้นไม่เป็นไปตามจังหวะธรรมชาติ (ปกติทั่วไป หัวใจของคนเราจะเต้นอยู่ระหว่าง 50-100 ครั้งต่อนาที) โดยอาการดังกล่าว ในทางการแพทย์อธิบายว่าเป็นผลมาจากกระแสไฟฟ้าในหัวใจเปลี่ยนไป เนื่องจากธรรมชาติของคนเรา หัวใจทั้ง 4 ห้องจะบีบสัมพันธ์กันได้ ต้องมีระบบไฟฟ้าควบคุม เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย
ปกติแล้ว ศูนย์ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจอยู่บนผนังหัวใจห้องบนขวา มีกลุ่มเซลล์ซึ่งปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาเป็นช่วงๆ อย่างสม่ำเสมอเรียกว่า Sinus Node โดยไฟฟ้าที่ออกมา จะกระตุ้นให้หัวใจห้องบนบีบตัว คล้ายกับเวลาที่เราถูกไฟฟ้าดูด กล้ามเนื้อจะกระตุก กล้ามเนื้อหัวใจก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ไฟฟ้าจาก Sinus Node มีความแรงอ่อนมาก และหัวใจเป็นอวัยวะที่อยู่ภายใน เราจึงไม่รู้สึก หลังจากนั้นจะมีเนื้อเยื่อที่นําไฟฟ้าได้ดี เรียงตัวกันลักษณะคล้ายสายไฟเพื่อนําสัญญาณไฟฟ้าลงสู่หัวใจห้องล่าง ซึ่งจะบีบตัวตามหลังหัวใจห้องบนด้วยจังหวะที่เหมาะสม
แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เกิดความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจเต้นเร็วเกินไปหรือเต้นช้า เหล่านี้ล้วนจัดเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งบางชนิดไม่รุนแรง แต่บางชนิดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน
เครียด สูบบุหรี่ นอนน้อย ตัวกระตุ้นชั้นดี
แม้ว่าโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะดูเหมือนเป็นโรคที่เราไม่ค่อยได้ยินบ่อย เมื่อเทียบกับโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่เชื่อมั้ยว่าปัจจัยเสี่ยง เช่น การดื่มเหล้า เบียร์ ชา กาแฟ ก็เป็นตัวกระตุ้นการทํางานของหัวใจ และทําให้เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้นะ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงภาวะเครียด สูบบุหรี่ และนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นระยะเวลายาวนาน ต่างๆ เหล่านี้ล้วนถือเป็นสาเหตุที่ทําให้เกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบอื่นๆ ที่ทําให้ระบบไฟฟ้าหัวใจสูญเสียหน้าที่ไป เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน อาจเกิดหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะรุนแรง เสี่ยงทําให้หัวใจหยุดเต้น
และเสียชีวิตได้ หรือผู้ป่วยโรคธัยรอยด์เป็นพิษ อาจมีหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะชนิด Atriol Fibrilotion (AF) เป็นต้น ส่วนความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจเอง ก็ทําให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้หลายรูปแบบ มีเนื้อเยื่อที่นําไฟฟ้าได้ เชื่อมระหว่างหัวใจห้องบนและห้องล่าง เปรียบเสมือนมีสายไฟเกินขึ้นมา ก็อาจทําให้เกิดการลัดวงจรไฟฟ้าและเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเต้นเร็วมากได้เช่นกัน
ความแตกต่างของโรคหัวใจต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง และไม่รุนเเรง
เพราะโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีทั้งชนิดที่รุนแรงและไม่รุนแรง การแสดงอาการก็จะมีความแตกต่างกันไป สําหรับโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดไม่รุนแรงนั้น ผู้ป่วยมักจะมีแค่อาการใจสั่น ซึ่งหมายถึงความรู้สึกรับรู้ถึงความผิดปกติเมื่อหัวใจเต้น (คนปกติจะไม่รู้สึกว่าหัวใจเต้น แต่เมื่อใดก็ตามที่รู้สึก มักจะรู้สึกไม่สบาย) อาการ ใจสั่นอาจเกิดจากหัวใจเต้นช้า เต้นเร็ว หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว และโดยส่วนใหญ่แพทย์จะรักษาตามอาการหรือไม่จําเป็นต้องให้การรักษา ก็สามารถดีขึ้นได้เอง ในขณะที่โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง ผู้ป่วยมักมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ รู้สึกเหนื่อย แน่นหน้าอก บางรายถึงขั้นเป็นลมหมดสติและอาจเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน กรณีนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยด่วน สําหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจากห้องบนชนิด Atrial Fibrilation (AF) อาจเป็นสาเหตุให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ เนื่องจากเมื่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีโอกาสที่ลิ่มเลือดจะจับตัวกันเป็นก้อนในหัวใจห้องบน และหลุดไปอุดหลอดเลือดสมอง โดยที่ผู้ป่วยอาจไม่เคยมีอาการทางหัวใจมาก่อน
ปัจจุบันการป้องกันโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น ลองปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจําวันตามมาตรฐานทั่วไปในการดูแลสุขภาพ เช่น รักษาสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโอกาสของการเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะก็จะลดลงตามไปด้วย ส่าหรับวัยกลางคนควรเริ่มตรวจคัดกรองสุขภาพปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ตรวจพบโรคได้แต่เนิ่นๆ หรือหากมีอาการผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
ปัจจุบันการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น มีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าเป็นชนิดใด เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเต้นเร็วผิดปกติ มักรักษาด้วยการทานยา ซึ่งยาที่ใช้ส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์ลดความดัน เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยที่มีระดับความดันโลหิตปกติ ก็อาจทําให้มีความดันโลหิตลดต่ำลงเล็กน้อย หากเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเต้นช้า แพทย์มักใช้วิธีรักษาโดยการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า ซึ่งในอดีตเคยมีการใช้ยาในการรักษา แต่ปัจจุบันพบว่ามักไม่ได้ผลหรือ ได้ผลเพียงชั่วระยะเวลาสั้น และส่งผลเสียในระยะยาวมากกว่า นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาอีกวิธีคือ การจี้สกัดกั้นทางเดินไฟฟ้าผิดปกติด้วยคลื่นความถี่สูง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง และผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทได้เกือบ 100%