ที่มา: https://dodeden.com

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่าวันนี้ (1 กันยายน 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก  เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วชิระ  เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์แดเนียล เอ. เคอร์เทสซ์ (Dr.Danniel A. Kertesz) ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประเทศไทย

นายโธมัส ดาวิน (Mr.Thomas Davin)  ผู้แทนจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และแพทย์หญิงศิริพร  กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560

ศาสตราจารย์คลินิก  เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือพ.ร.บ. นมผง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 กันยายน 2560 นี้ เป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ประกาศใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มทารกและเด็กเล็ก โดยควบคุมการส่งเสริมการตลาด ผ่านสื่อโฆษณาและวิธีการลดแลกแจกแถม ของผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก หรือผลิตภัณฑ์นมผงให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่อย่างเต็มที่

บรรลุเป้าหมายให้เด็กทั่วโลกอย่างน้อยร้อยละ 50 ได้รับนมแม่อย่างเหมาะสมในปี 2568 ตามหลักที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ หรือ “1-6-2” คือกินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น

“กฎหมายฉบับนี้ เป็นไปตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดของทารก มีสารอาหารที่มีคุณค่ามากกว่า 200 ชนิด ช่วยการเจริญเติบโต มีภูมิคุ้มกันโรค และการโอบกอดขณะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์ และการสร้างสายใยผูกพันระหว่างแม่ลูก” ศาสตราจารย์คลินิก  เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าว

ด้านนายแพทย์วชิระ  เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้อ้างอิงจากหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) หรือโค้ดนม

ซึ่งเป็นข้อแนะนำสากลที่มีการตกลงกันระหว่างนานาประเทศในเวทีสมัชชาอนามัยโลกในปี ​2524 ที่ผ่านมาไทยได้นำโค้ดนมมาใช้โดยขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจแบบสมัครใจ เพื่อควบคุมวิธีการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 และปรับปรุงเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2551 แต่ยังพบการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดอย่างไม่เหมาะสมอยู่

จึงผลักดันให้มี พ.ร.บ. นมผงฉบับนี้ขึ้นเพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะนี้ กรมอนามัยได้จัดระบบและมอบหมายบุคลากรให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเฝ้าระวังการละเมิดและฝ่าฝืนกฎหมาย และสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจในปี 2558 พบว่าเด็กไทยอายุต่ำกว่า 6 เดือนร้อยละ 23 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียว และแม่ที่สามารถให้นมลูกได้ถึง 2 ปี มีเพียงร้อยละ 16

สำหรับการขับเคลื่อนเพื่อให้เด็กไทยได้กินนมแม่อย่างเหมาะสม มีมาตรการสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1.การส่งเสริม กระตุ้นช่วยเหลือให้แม่มีความพร้อมและตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 2.การสนับสนุน โดยจัดบริการคลินิกนมแม่ในโรงพยาบาล การเยี่ยมบ้านหลังคลอด สนับสนุนการจัดมุมนมแม่ในสถานที่ทำงาน เป็นต้น

และ3.การปกป้อง โดยคุ้มครองแม่และครอบครัวจากการได้รับข้อมูลและคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง หรือชวนเชื่อให้ใช้อาหารอื่นทดแทนในช่วงที่ยังควรได้รับนมแม่ ที่สำคัญคือการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กให้เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยกฎหมายฉบับนี้จะช่วยเพิ่มระดับการปกป้องได้มากขึ้น ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประเมินว่า หากแม่ได้รับการดูแลทั้งการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้อง จะมีโอกาสให้นมแม่สำเร็จได้เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า

นายแพทย์แดเนียล เอ. เคอร์เทสซ์ ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับทารก และประโยชน์ของมันนั้นจะมีต่อเนื่องไปตลอดชีวิต พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กซึ่งจะบังคับใช้ในวันที่ 8 กันยายนนี้ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ซึ่งประเทศไทยได้ให้การรับรองไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2524 และสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทยในการคุ้มครองสุขภาพและพัฒนาการของเด็กไทย ประเทศไทยจึงได้เข้าร่วมกับอีก 135 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายในการปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก และไม่มีอาหารอื่นที่จะเทียบเคียงได้ในการส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและสติปัญญาของเด็ก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ควรเป็นเพียงทางเลือกที่ถูกต้อง แต่ควรเป็นทางเลือกที่ง่าย และเป็นทางเลือกที่พ่อแม่ต้องการด้วย กฏหมายนี้จะช่วยปกป้องสิทธิของครอบครัวในการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องอาหารของลูก นี่ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับเด็กในประเทศไทย และการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต”

แพทย์หญิงศิริพร  กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีบทบาทในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปกป้องหญิงตั้งครรภ์และแม่หลังคลอดให้รู้เท่าทันถึงกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด การโฆษณาอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กต่างๆ โดยผ่านทางเว็บไซต์ เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม จดหมายข่าว นิตยสารแชมเปี้ยนนมแม่

และชุดความรู้ต่างๆ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์และแม่หลังคลอด ได้รับการปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุนจากทุกฝ่าย สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ ได้ร่วมกับกรมอนามัย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ขยายเครือข่ายมุมนมแม่ในสถานประกอบการ

ขณะนี้ ทั่วประเทศมีมุมนมแม่ 1,004 แห่ง องค์กรต้นแบบ 16 แห่ง และศูนย์เรียนรู้ 5 แห่งที่เป็นเครือข่ายที่มีนโยบายการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เอื้อเฟื้อการจัดตั้งมุมนมแม่ และมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการบีบเก็บน้ำนมของแม่ทำงาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่แม่ให้นมลูกได้สำเร็จ

เรื่องน่าสนใจ