เนื้อหาโดย Dodeden.com

มีผู้หญิงจํานวนหนึ่งที่ประสบกับปัญหาปัสสาวะเล็ดโดยไม่รู้ตัว เช่น หากคุณนั่งทํางานอยู่ดีๆ แล้วกลับอั้นปัสสาวะไว้ไม่อยู่ มีไหลซึมก่อนจะเดินไปถึงห้องน้ำ หรือปวดปัสสาวะบ่อยๆ จนต้องเข้าห้องน้ำเกือบทุกชั่วโมง แม้กระทั่งเมื่อมีอาการไอจามก็มักมีปัสสาวะเล็ดราดออกมา หรือหากกลางคืนคุณต้องลุกมาเข้าห้องน้้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง ให้สงสัยว่าคุณอาจเข้าข่ายในกลุ่มอาการของโรคปัสสาวะเล็ด

 

ซึ่งนิยามของโรคปัสสาวะเล็ด คือการมีปัสสาวะเล็ดราด ควบคุมไม่อยู่ หรือไม่ สามารถควบคุมได้ สาเหตุเกิดจากการยืดหย่อนของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานในผู้หญิง หรือมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อมัดนี้ ซึ่งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นกล้ามเนื้อที่มีความสําคัญมาก เพราะเป็นกล้ามเนื้อที่คอยมัด ดึง และพยุงอวัยวะภายในไว้ 3 ระบบ ไม่ให้หย่อนยึดหรือหล่นต่ำลงมา คือกระเพาะปัสสาวะ มดลูก และทวารหนัก โดยกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานจะทําหน้าที่ควบคุมและเป็นหูรูดของท่อปัสสาวะ ส่วนช่องคลอดก็จะทําให้ช่องคลอดกระชับ ควบคุมการคลอดบุตร และการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนทวารหนักก็จะทําหน้าที่เป็นหูรูด ควบคุมการถ่ายอุจจาระ ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานมีการหย่อนยืด ฉีกขาด หรือมีอะไรที่ไป ทําลายมดลูก กระเพาะปัสสาวะ และทวารหนัก จะส่งผลกระทบให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติได้

ปัสสาวะเล็ดที่พบได้บ่อย
สําหรับโรคปัสสาวะเล็ดที่พบบ่อยในปัจจุบัน ในทางการแพทย์แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการหลักๆ คือโรคำอจามปัสสาวะเล็ด (Stress Urinary Incontinence) โรคปัสสาวะไวเกิน อั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือโรคปวดราด (Overactive Bladder-OAB) และโรคปัสสาวะลําบากหรือปัสสาวะคั่งค้าง (Urinary Retention with Overflow) โดยสองโรคแรกอย่างไอจามปัสสาวะเล็ดกับโรคปัสสาวะไวเกิน มักพบได้บ่อยที่สุด และพบบ่อยในผู้หญิงวัยหมดประจําเดือนถึง 20% ส่วนผู้หญิงที่อายุไม่มาก มีแนวโน้มของการพบโรคนี้ประมาณ 6-10% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุ ในขณะที่โรคปัสสาวะลําบากพบได้น้อยกว่า ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุหรือเป็นเนื้องอกบางชนิด ที่ทําให้เกิดการอุดตันของท่อปัสสาวะ เช่น เนื้องอกที่มดลูก เป็นต้น สําหรับโรคไอจามปัสสาวะเล็ด คุณจะมีปัสสาวะเล็ดราดออกมา เมื่อมีความดันในช่องท้อง เช่น มีการไอ จาม ออกกําลังกาย ยกของหนัก หรือแม้แต่การหัวเราะดังๆ ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนยืด ทําให้ท่อปัสสาวะเปิดอ้า เรียกง่ายๆ คือหูรูดหลวม สาเหตุอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ การตั้งครรภ์ คลอดบุตร หรือแม้แต่ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ 

ส่วนโรคกระเพาะปัสสาวะไวเกิน คุณจะไม่สามารถควบคุมการอั้นปัสสาวะได้ ต้องเข้าห้องน้ำทันที หรือบ่อยๆ วันละหลายรอบ หรือเกิน 8 ครั้งต่อวัน หรือต้องตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืนมากกว่า 1 ครั้ง สาเหตุอาจเกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานถูกทําลาย เข้าสู่วัยหมดประจําเดือน หรือเป็นโรคทางระบบประสาทบางชนิด ส่งผลให้สมองไม่สามารถสั่งควบคุมการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะและยับยั้งการอั้นปัสสาวะไว้ได้ บางรายหากมีปัสสาวะราดร่วมด้วย จะเรียกว่าโรคกระเพาะปัสสาวะไวเกินที่มีปัสสาวะราดร่วมด้วย ส่วนโรคกระเพาะปัสสาวะคั่งค้าง คุณจะมีอาการปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะลําบาก แน่นอึดอัด เพราะมีการคั่งค้างของปัสสาวะ เรียกว่าปัสสาวะท้นและอาจไหลราดออกมาเมื่อขยับตัว

รักษาอย่างไรให้หายขาด
แม้จะไม่ใช่โรคร้าย แต่เมื่อไหร่ที่คุณมีอาการปัสสาวะเล็ดแบบใดแบบหนึ่ง ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทั้งยังก่อให้เกิดความรําคาญ โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางไกล ทํางานนอกสถานที่ หรือนัดแฮงเอาท์กับเพื่อนสาว บางรายที่มีอาการรุนแรง อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า เนื่องจากไม่กล้าออกจากบ้านไปไหน อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์ โรคปัสสาวะเล็ดบางกลุ่มอาการสามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งวิธีการรักษามีทังการกินยา ผ่าตัด และพฤติกรรมบําบัด ซึ่ง
ถ้าเป็นโรคไอจามปัสสาวะเล็ด วิธีการรักษามี 2 วิธี หมั่นบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน หรือฝึกขมิบช่องคลอดก็จะช่วยได้ อีกวิธีคือการผ่าตัด ใส่เทปรัดท่อปัสสาวะเอาไว้ ปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบเจาะรู ซึ่งเป็นเทคนิคสมัยใหม่และเป็นวิธีที่ได้มาตรฐานที่สุด ผู้ป่วยจะมีรอยแผลผ่าตัดเล็กประมาณ 1 ซม. และนอนโรงพยาบาลเพียง 1 คืน ก็สามารถกลับบ้านแล้วใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนการทํารีแพร์นั้นไม่แนะนํา เนื่องจากจะยิ่งทําให้ปัสสาวะเล็ดมากยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่จะทําในกรณีที่ช่องคลอดหลวม หรือหย่อน หรือถ้าไม่หย่อนก็ต้องใช้วิธีดึงสอดสายสลึงเพื่อรั้งท่อปัสสาวะไว้

สําหรับโรคปัสสาวะไวเกิน การรักษาจะแตกต่างจากไอจามปัสสาวะเล็ด คือต้องกินยาคลายกระเพาะปัสสาวะ ควบคู่กับการใช้พฤติกรรมควบคุมการกินน้ำ ไม่ดื่มน้ำเยอะจนเกินไป หลีกเลี่ยงชา กาแฟ น้ำอัดลม โซดา และน้ำผลไม้รสเปรี้ยวทุกชนิด ซึ่งมีส่วนช่วยในการขับปัสสาวะ หรือทําให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวเร็ว มากกว่าปกติ ส่วนโรคกระเพาะปัสสาวะคั่งค้าง ถือเป็นภาวะรุนแรงที่สุด แต่พบน้อยที่สุด การรักษาต้องดูจากสาเหตุการเกิดโรค อย่างเช่น หากมีเนื้องอกก็ตัดเนื้องอกทิ้ง หรือถ้าเกิดจากระบบประสาทเสีย เช่น เคยเกิดอุบัติเหตุ เป็นเบาหวานขั้นรุนแรง จนทําให้เส้นประสาทเสีย และไม่สามารถแก้ไขได้ จะต้องสวนปัสสาวะด้วยตัวเองตลอด

ถึงแม้โรคนี้อาจจะดูห่างไกลจากผู้หญิงวัยทํางาน แต่การหมั่นสํารวจพฤติกรรมการเข้าห้องน้ำของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยการเกิดโรค และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจําทุกปี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคภัยต่างๆ ที่มักจะคุกคามยามเมื่อเรามีอายุมากขึ้นได้ค่ะ

 

เรื่องน่าสนใจ