เรียบเรียงเนื้อหาโดย Dodeden.com
เราลองมาดูส่วนหนึ่งของการดูแลพระวรกายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อเป็น 9 แนวทางตัวอย่างในการดำเนินชีวิตด้านสุขภาพ ทั้งเรื่องอาหารการกิน การฝึกสมาธิ และการออกกำลังกาย ให้เราชาวไทยได้น้อมนำไปปฏิบัติตามรอยพระองค์ เพื่อจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรงกันถ้วนหน้า
เราทุกคนรู้กันดีว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการดูแลพระวรกายรอบด้านทั้งภายในและภายนอก ตั้งแต่ทรงฝึกสมาธิ ไปจนถึงเรื่องอาหารและการออกกำลังพระวรกายที่อยู่ในความสนพระทัยของพระองค์ และได้ทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เองอย่างสม่ำเสมอเป็นกิจวัตร เราขอเสนอส่วนเล็กๆ ของการดูแลพระวรกายของพระองค์ เพื่อนำมาเป็นแนวทางให้ประชาชนชาวไทย ได้น้อมนำไปปฏิบัติเพื่อจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรง อันจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวต่อไป
ทรงออกกำลังพระวรกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
พระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพตลอดมา จากความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สัมมนาเรื่องการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2523 พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการออกกำลังกายว่า “ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะพอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็จะเจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว ดังนั้นผู้ที่ปรกติทำการงานโดยไม่ได้ใช้กำลัง หรือใช้กำลังแต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังกายให้พอเพียงกับความต้องการตามธรรมชาติเสมอ ทุกวัน”
ทรงจดบันทึกพระชีพจรทุกครั้งก่อนและหลังทรงออกกำลังพระวรกายเสมอ
การออกกำลังกายตามแนวทางปฏิบัติของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น พระองค์ได้ทรงปฏิบัติอย่างถูกหลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์การกีฬาทุกขั้นตอน เช่น มีการจดบันทึกพระชีพจรและความดันพระโลหิตทั้งก่อนและหลัง ทั้งยังทรงออกกำลังพระวรกายอย่างสม่ำเสมอ และทรงศึกษาเพิ่มเติมว่าควรจะเริ่มต้นออกกำลังพระวรกายอย่างไร โดยทรงปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตรมาตลอด แม้ในวโรกาสเสด็จแปรพระราชฐานไปยังที่ต่างๆ ในเวลากลางวัน กว่าจะเสร็จสิ้นพระราชกิจในเวลามืดค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก็จะทรงออกกำลังพระวรกายด้วยการพระราชดำเนินเร็วๆ เป็นระยะทางนับ 100 เมตร เพื่อให้พระวรกายของพระองค์แข็งแรงอยู่เสมอ
ออกกำลังพระวรกายอย่างพอดี ไม่น้อยไป ไม่มากไป
ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการออกกำลังกายตอนหนึ่งว่า “การออกกำลังกายนั้น ถ้าทำน้อยไป ร่างกายและจิตใจก็จะเฉา ถ้าทำมากเกินไป ร่างกายและจิตใจก็ช้ำ” เป็นพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ข้าราชบริพารหลังการออกกำลังพระวรกายประจำวัน เพื่อฟื้นฟูพระวรกายหลังจากประชวรในช่วงปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการออกกำลังกายที่ประชาชนทั่วไปควรตระหนักและยึดถือเป็นแนวทางในการออกกำลังกายในชีวิตประจำวันของตัวเองได้อย่างดี
ทรงโปรดการบริหารพระวรกายด้วยการวิ่ง
จากเรื่องราวในหนังสือ ‘สองธรรมราชา’ โดย อัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์ มีเรื่องราวตอนหนึ่งเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมัยก่อนที่พระองค์จะโปรดการบริหารพระวรกายด้วยการวิ่ง โดยพระองค์จะทรงวิ่งครั้งหนึ่งเป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ถ้าเป็นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานก็จะทรงวิ่งในศาลาดุสิดาลัย
เมื่อครั้งประชวรไข้ พ.ศ. 2525 ทรงฟื้นฟูพระวรกายจนกลับมาแข็งแรง
ดร. วินิจ วินิจนัยภาค รองเลขาธิการสำนักพระราชวังฝ่ายที่ประทับเล่าว่า “เมื่อปี 2525 พระองค์ทรงพระประชวรไข้ มีพระอาการแทรกซ้อนทางพระหทัย เมื่อพระอาการทุเลา ในช่วงเวลาพักฟื้นนั้น คณะกรรมการแพทย์ได้ถวายคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังพระวรกายด้วยการทรงพระดำเนินเร็วหรือวิ่ง ซึ่งมีประโยชน์โดยตรงกับการทำงานของพระหทัย พระองค์ได้ทรงปฏิบัติสืบเนื่องอย่างสม่ำเสมอ
คือการออกกำลังกายแบบอากาศนิยม หรือที่เรียกว่าแบบแอโรบิก (Aerobic Exercise) คือการออกกำลังกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ ของลำตัว แขน ขา ให้เคลื่อนไหวเป็นจังหวะต่อเนื่อง เพื่อให้มีการหดตัวและคลายตัวสลับกัน อันจะช่วยเพิ่มการสูบฉีดพระโลหิตมายังกล้ามเนื้อเหล่านี้ โดยในช่วงพักฟื้นพระองค์ทรงพระดำเนินเป็นระยะทางประมาณ 2,500 เมตร เวลาประมาณ 20-22 นาทีเศษๆ
หรือถ้าจะทรงจักรยานก็ใช้เวลาในการวิ่ง 12-14 กิโลเมตร ระยะเวลา 24-25 นาทีเศษๆ โดยมีความเร็วสูงสุด 42 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในระยะเร่ง ตลอดระยะ 7 ปีเศษของการติดตามการออกกำลังพระวรกายจะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของพระชีพจรและความดันพระโลหิตมีความสัมพันธ์กับปริมาณการออกกำลังแต่ละครั้ง เป็นแบบฉบับที่สามารถยึดถือเป็นตำรา…” คำบอกเล่าดังกล่าว เป็นการชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงออกกำลังพระวรกายตามหลักได้อย่างถูกต้องและได้ผลดี พระองค์ใช้ตัวเองเป็นสื่อการสอนโดยตรงด้วยการลงมือปฏิบัติให้เห็นจริงจังอีกด้วย
ทรงฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ
แม้ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงงานหนักอย่างต่อเนื่องมาตลอด แต่ทุกครั้งที่ปวงชนชาวไทยได้เห็นพระองค์ทรงงานผ่านสื่อต่างๆ ก็จะคุ้นเคยกับภาพที่พระองค์ทรงกระฉับกระเฉงเมื่อต้องเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่างๆ ทั่วแคว้นแดนไทย พระองค์ไม่มีอาการง่วงหรือเหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย นั่นเป็นเพราะทรงฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ผู้ที่เคยติดตามถวายงานตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 กล่าวว่า “เท่าที่ผมสังเกตเอานะครับ พระเจ้าอยู่หัวไม่เพียงทรงศึกษาสมาธิแต่อย่างเดียว แต่ได้ทรงนำสมาธิมาใช้ในพระราชกรณียกิจประจำด้วย ในเรื่องนี้เราจะสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตามที่โดยปกติแล้วอย่างพวกเราๆ ท่านๆ ไม่น่าจะทำได้ แต่พระองค์ทรงทำได้ อย่างงานที่ต้องประทับเป็นเวลานานๆ ติดต่อกันถึง 2-3 ชั่วโมงจะทรงปฏิบัติได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยไม่ทรงมีอาการเหนื่อยหรือง่วงแม้แต่น้อย ตลอดเวลาที่ผมอยู่ในตำแหน่ง 11 ปี 11 เดือน ผมยังไม่เคยเห็นเลยว่าเวลาเสด็จพระราชดำเนินที่ใดแล้วจะทรงแสดงอาการเหนื่อยจนถึงขนาดนั่งหลับ ไม่มี”
เสวยข้าวกล้องเป็นพระกระยาหารหลัก
ประโยชน์ของข้าวกล้องนั้นมีมากมาย ด้วยคุณค่าทางอาหารที่สูงมาก มีส่วนช่วยให้การทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นศูนย์รวมของวิตามินต่างๆ มีโปรตีนเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอของร่างกาย มีสารต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดเสวยข้าวกล้องเป็นพระกระยาหารหลักเช่นกัน นอกจากนี้ยังโปรดอาหารไทยที่มีรสชาติไทย ดังที่ ชาติชาย วรมาลี ผู้อำนวยการกองมหาดเล็กเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร สกุลไทย ว่า อาหารที่พระองค์ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดคืออาหารไทย ซึ่งอาหารการกินในวังมีขั้นตอนและรายละเอียดที่น่าสนใจมากในหนึ่งมื้อต้องมีอาหารครบ 5 หมู่ โดยผู้ที่จะกำหนดว่าในอาหารที่ครบ 5 หมู่จะต้องมีอะไรบ้างนั้น จะมีคณะโภชนาการกำกับดูแลและคิดเมนูต่างๆ พอคิดเสร็จแล้วก็ต้องผ่านไปยังท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน ซึ่งได้รับพระราชเสาวนีย์ให้มากำกับดูแลฝ่ายห้องเครื่อง หลังจากนั้นจะทำเรื่องกราบบังคมทูลส่งขึ้นไปให้ทอดพระเนตรว่าเมนูในแต่ละวันที่จะเป็นเครื่องเสวยของทุกพระองค์มีอะไรบ้าง พระกระยาหารจานโปรดคือ ไข่จะละเม็ด ปลาทู รวมถึงผัดผัก
โปรดผักทุกชนิด
ท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล ห้องเครื่องพระกระยาหารไทย วังสวนจิตรลดา ได้เคยกล่าวเอาไว้ตอนหนึ่งในหนังสือ ‘เครื่องต้น ก้นครัว’ ว่า “พระองค์โปรดผัดผักหรือถั่วงอกโดยไม่ต้องใส่อย่างอื่นเลย นอกจากน้ำมันที่ใช้ผัดเท่านั้น เช่น ผัดผักบุ้งไฟแดง ก็ต้องเป็นแบบตั้งน้ำมันในกระทะให้ร้อนจนควันขึ้น แล้วจึงใส่ผักบุ้งพร้อมกระเทียมลงไป ไม่โปรดผสมเต้าเจี้ยวหรืออย่างอื่นเลย” นอกจากนี้ยังโปรดน้ำพริก ซึ่งห้องเครื่องได้ทำถวายน้ำพริกต่างๆ หลากหลาย เช่น น้ำพริกมะขาม น้ำพริกมะเขือพวง น้ำพริกหนำเลี้ยบ น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกกะปิ ฯลฯ
นอกจากนี้ ชาหรือกาแฟเป็นที่นิยมกันมากในคนยุคนี้ มีร้านกาแฟรวมทั้งคาเฟ่ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายแทบทุกจังหวัดและมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก บรรดาคอชากาแฟทั้งหลายจึงยกให้เป็นเครื่องดื่มสุดโปรดที่ต้องดื่มแทบทุกวัน แต่สำหรับในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์โปรดเครื่องดื่มโอวัลตินมากกว่าชาหรือกาแฟ ดังที่มีเกร็ดจากหนังสือ ‘ของเสวย’ โดย ม.ร.ว.กิตินัดดา กิติยากร บันทึกเอาไว้ว่า “พระองค์โปรดเครื่องดื่มโอวัลตินเป็นพิเศษ เคยเสวยวันหนึ่งๆ หลายครั้ง น้ำชา กาแฟ ไม่มากนัก”