เนื้อหาโดย Dodeden.com
ขนบประเพณีและศิลปกรรมทุกแขนง มีทั้งที่เป็นของราษฎร ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไปตามประวัติศาสตร์ และข้อกําหนดทางสังคมของแต่ละภูมิภาค และราชประเพณีอันเป็นแบบแผนของราชสํานัก สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสําคัญยิ่ง เป็นศูนย์รวมจิตใจของสังคมและชนชาติไทยมาช้านาน พระราชพิธีหลายอย่างมีอิทธิพลต่อความเชื่อและการดําเนินชีวิตของประชาชน บางพระราชพิธีเป็นโบราณราชประเพณีที่องค์พระมหากษัตริย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นสืบเนื่องมาหลายร้อยปี
เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีเสด็จพระราชดําเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค พระราชพิธีขึ้นระวางช้างสําคัญ และพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช เป็นต้น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เมื่อพุทธศักราช 2475 แล้ว พระราชพิธีบางพระราชพิธีถูกยกเลิก บางพระราชพิธีถูกเปลี่ยนเป็นรัฐพิธีไปด้วยเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีบางพระราชพิธีที่มีประโยชน์ต่อบ้านเมืองและเป็นขวัญกําลังใจแก่ประชาชน
พระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
การกสิกรรมเป็นอาชีพหลักของชนชาติไทยทุกภูมิภาค มีการทํานาปลูกข้าว “การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ” พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นแบบอย่างในการทํานาแก่ราษฎร มีหลักฐานมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ จรดพระนังคัลเป็นพระราชพิธีพราหมณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เพิ่มพิธีสงฆ์แยกต่างหาก เรียกว่าการพระราชพิธีพีชมงคล หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ในพุทธศักราช 2483 การจรดพระนังคัล เปลี่ยนเป็นการแสดงไถนาที่ท้องสนามหลวง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ รวมเป็นงานเดียวกับรัฐพิธีพืชมงคล เมื่อพุทธศักราช 2503 ในชั้นแรกเรียกว่า รัฐพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ต่อมาถึงพุทธศักราช 2506 จึงเปลี่ยนเป็นพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระราชพิธีเสด็จพระราชดําเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
พระมหากษัตริย์ไทย ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงพระราชศรัทธามั่นคงในพระบวรพุทธศาสนา โบราณราชประเพณีและพระราชพิธีหลายอย่าง เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา ประเพณีอย่างหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนถือว่าเป็นการมหากุศล คือการทอดกฐิน หรือถวายผ้ากฐินหลังเทศกาลออกพรรษาระหว่างแรม 3 ค่ำ เดือน 7 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งนอกจากประเพณีของราษฎรแล้ว ยังมีราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดําเนินถวายผ้าพระกฐินตามพระอารามต่าง ๆ ทั้งในพระนครและหัวเมือง ปรากฏหลักฐานทั้งในสมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ การเสด็จพระราชดําเนินถวายผ่าพระกฐินมีทั้งทางบก (สถลมารค) และทางน้ำ (ชลมารค) จากเอกสารหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ระบุว่า บางครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดกระบวนแห่ผ้าพระกฐิน และกระบวนเสด็จพระราชดําเนินเป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่ คําว่า พยุหยาตรา มีความหมายว่า การเคลื่อนกระบวนทัพ ดังนั้น กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค จึงหมายความว่า การเคลื่อนกระบวนทัพเรือ
เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว พุทธศักราช 2495 ได้เสด็จพระราชดําเนินไปทอดพระเนตรโรงเรือพระราชพิธีในคลองบางกอกน้อย มีพระราชดําริจะโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูการเสด็จพระราชดําเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้น ต่อมาในพุทธศักราช 2500 รัฐบาล จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ และได้จัดพิธีพุทธพยุหยาตราทางชลมารค และประทีปบูชาขึ้น โดยนำเรือพระราชพิธีและเรือกระบวนที่ยังใช้การได้ในขณะนั้น มาจัดเป็นกระบวนแห่พระพุทธรูป บริเวณท่าราชวรดิฐ ต่อมาสํานักพระราชวัง กรมศิลปากรและกองทัพเรือ ได้ร่วมกันซ่อมและสร้างเรือพระราชพิธีและเรือกระบวนเพิ่มเติมขึ้น ประกอบเป็นกระบวนพยุหยาตราตามอย่างโบราณราชประเพณี พระองค์ทรงพระกรุณาโปรตเกล้าฯ ให้จัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2502 คราวเสด็จพระราชดําเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัด อรุณราชวราราม หลังจากนั้น มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคและกระบวนเรือราชพิธีอีก 15 ครั้ง
พระราชดําริและพระราชกรณียกิจในการฟื้นฟูกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค อํานวยประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ชาวไทย เพราะเป็นสิ่งเชิดชูเกียรติคุณของชาติไทย ให้โลกรู้จักชาวไทย และนานาประเทศได้ชื่นชมความงดงามของกระบวนเรือพระราชพิธีที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อการรักษาสืบทอดโบราณราชประเ่พณี อันเป็นมิ่งขวัญต่อราษฎรที่ประกอบอาชีพกสิกรรมให้ดํารงอยู่สืบไป