กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สนับสนุนการพัฒนาระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และรังสีวินิจฉัยโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “พัฒนาระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และรังสีวินิจฉัยโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ประจำปี 2561” ณ โรงแรมน่านตรึงใจ จ.น่าน ว่า
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เริ่มมีบันทึกปฏิญญาความร่วมมือในการสนับสนุนการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐานสากลของเครือข่ายห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ.2557 เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ให้มีมาตรฐานสากล เป็นที่พึ่งของประชาชนให้ได้รับการบริการทางห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพมาตรฐาน
สำหรับในปีงบประมาณ 2561 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำโครงการเพื่อเสริมสร้างคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการรังสีวินิจฉัยให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ห้องปฏิบัติการดำรงรักษาระบบคุณภาพตามมาตรฐานสากล และมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข สามารถสนับสนุนการให้บริการสุขภาพของสถานพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีเจตจำนงที่จะขับเคลื่อนนโยบายการธำรงรักษาระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO 15189 : 2012 และ ISO 15190 : 2003 และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับมูลนิธิสมเด็จพระยุพราช เพื่อพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง ให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 15189 : 2012 ครอบคลุมทุกรายการตรวจวิเคราะห์ที่เปิดให้บริการ และได้พัฒนาเพิ่มเติมในรายการตรวจวิเคราะห์เพื่อการบริการโลหิต
ทั้งนี้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ทุกแห่งล้วนมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพ ให้ได้รับการรับรองในทุกรายการตรวจวิเคราะห์ต่อไป
“ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และห้องปกิบัติการรังสีวินิจฉัยมีความสำคัญตอระบบสาธารณสุขของประเทศ เนื่องจากผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการจะนำไปประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ในการให้การรักษา ดังนั้นผลที่ได้จะต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ ยืนยันผลได้ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ถูกต้องและรักษาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ผลการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการยังเป็นข้อมูลสำคัญ ที่ใช้ในการวางแผน ควบคุม ป้องกัน และเฝ้าระวังการเกิดโรคติดต่อที่อันตรายในพื้นที่และบริหารจัดการส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อเวลา ดังนั้นการพัฒนาระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลให้มีคุณภาพมาตรฐานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง” นายแพทย์สุขุมกล่าว
เรียบเรียงโดย โดดเด่นดอทคอม