โรคข้อไหล่ติด เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเอ็น หรือกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ มีผลให้การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ลดลง จนกระทั่งเกิดการหดรั้ง หรือมีพังผืดที่เอ็นและกล้ามเนื้อ แล้วเกิดการยึดติดของข้อไหล่ในทิศทางการเคลื่อนไหวต่างๆ ตามมา ทําให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข บางรายยังมีผลถึงการประกอบอาชีพ จนกระทั่งต้องหยุดการประกอบอาชีพโดยสิ้นเชิงก็มี
โรคข้อไหล่ติด (Frozen Shoulder)
เป็นภาวะที่มีการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อต่อ (Capsule) ทําให้เกิดการเจ็บปวดและการจํากัดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ (Range of Motion) มีการค้นพบโรคนี้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 1872 มีทั้งชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ และชนิดที่ทราบสาเหตุ ข้อไหล่ติดชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ช่วงอายุ 40 – 60 ปี พบไหล่ข้างซ้ายมากกว่าข้างขวา และพบว่าเมื่อเกิดขึ้นที่ไหล่ข้างหนึ่ง อาจเกิดขึ้นกับอีกข้างหนึ่งตามมาภายในช่วง 12 – 24 เดือน ส่วนข้อไหล่ติดชนิดที่ทราบสาเหตุ มีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวชักนําทําให้เกิดโรคข้อไหล่ติด เช่น กระดูกแขนหักร่วมกับการจํากัดการเคลื่อนไหว โรคของหมอนรองกระดูกคอ โรคเบาหวาน ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ และภาวะหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ซึ่งทําให้เกิดข้อจํากัดในการทํางานหรือประกอบกิจวัตรประจําวัน
ลักษณะสําคัญของโรคนี้คือ มีการสูญเสียการเคลื่อนไหวของข้อไหล่อย่างช้าๆ และอาการปวดข้อไหล่ โดยเฉพาะเวลากลางคืน เมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อไหล่แล้วเกิดมีความเจ็บปวดมากขึ้น ร่างกายเกิดภาวะปกป้อง มีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวข้อไหล่ ทําให้เกิดข้อไหล่ติด และถ้าไม่ขยับข้อไหล่ หรือไม่ได้รับการรักษาทําให้เกิดการติดแข็ง (Stiffness) ร่วมกับเมื่อผู้ป่วยไม่ใช้งานแขน กล้ามเนื้อเมื่อไม่ใช้งานก็จะเกิดการลีบเล็กลงได้
โรคข้อไหล่ติด จะแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 คือ ระยะเจ็บปวด (Painful stage)
ระยะนี้ เป็นระยะเริ่มต้น นานประมาณ 2-9 เดือน ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน แต่ยังไม่มีการติดของข้อต่อมากนัก ความเจ็บปวดจะเพิ่มขึ้นจากการเคลื่อนไหวของข้อต่อในทุกทิศทาง ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยมาพบนักกายภาพบําบัดในระยะนี้ นักกายภาพบําบัดต้องทําการตรวจประเมินอย่าง ระมัดระวัง เพราะไม่อย่างนั้นก็อาจเกิดการวินิจฉัยผิดพลาดได้ เพราะเกิดความสับสนกับภาวะอื่นๆ เช่น เอ็น และหรือกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นต้น
- ระยะที่ 2 คือ ระยะติด (Stiff stage)
เป็นระยะต่อจากระยะเจ็บปวด ระยะนี้จะยาวนานประมาณ 4-12 เดือน ผู้ป่วยจะยังมีอาการเจ็บปวดอยู่ และจะมีการจํากัดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ร่วมด้วยในทุกทิศทาง โดยเฉพาะการหมุนแขนออกด้านนอก และการกางเขน สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติของกระดูกสะบักได้ชัดเจน กล้ามเนื้อรอบข้อไหล่เริ่มมีการฝ่อลีบ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อ deltoid (กล้ามเนื้อรูปสามเหลี่ยมที่เป็นส่วนสำคัญของกล้ามเนื้อในบริเวณไหล่) การยึดติดของข้อไหล่เริ่ม ตั้งแต่ 48 ชั่วโมง ถึง 4 สัปดาห์ เมื่อเริ่มมีอาการปวดข้อไหล่
- ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว (Recovery stage)
ระยะนี้ยาวนานประมาณ 5-24 เดือน เป็นระยะที่ผู้ป่วยไม่มีความเจ็บปวดที่ข้อไหล่ แต่จะเจ็บเมื่อเยื่อหุ้มข้อถูกยึด อาการติดของข้อไหล่จะค่อยๆ ลดลง ช่วงการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ที่ติดจะกลับคืนดังเดิมอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจํานวนไม่น้อยที่มีอาการปวด และมีองศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ลดลงขณะมาตรวจติดตามผลการรักษา นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยส่วนน้อยที่ยอมรับอาการปวด และการจํากัดการทํางานของข้อไหล่ในระยะเวลาเป็นปีๆ เนื่องจากอาการข้อไหล่ติดทําให้การทํากิจวัตรประจําวันได้ลดลง แถมยังทำให้มีปัญหาในการประกอบอาชีพด้วย
การรักษาโรคข้อไหล่ติด (Treatment of Frozen Shoulder)
การรักษาข้อไหล่ติดมี 2 แบบ คือ การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด (Operative Treatment) และการรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด (Conservative Treatment) ซึ่งการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดจะพบได้น้อย ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยวิธีกายภาพบําบัด และการออกกําลังกาย ไม่ทําให้เกิดการบาดเจ็บ ซึ่งเทคนิคการรักษาทางกายภาพบําบัดมีหลายชนิด จะต้องประเมินผลการรักษา ร่วมกับการตอบสนองของผู้ป่วยต่อการรักษาเครื่องมือและวิธีการทางกายภาพบําบัดด้วย ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
- การรักษาด้วยการออกกําลังกายและการเคลื่อนไหว
แก้ไขการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติจากความบกพร่องของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเนื้อเยื่อ โดยออกแบบท่าและโปรแกรมการออกกําลังกาย เช่น การเคลื่อนไหวข้อไหล่ให้ผู้ป่วย (passive Exercise) การออกกําลังกายแบบ Pendulum การออกกําลังกายโดยใช้ Pulley Shoulder Wheel เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะของผู้ป่วยแต่ละคน และการส่งเสริมสุขภาพในผู้ที่ยังไม่มีอาการผิดปกติของร่างกาย ให้มีสุขภาพดีขึ้น ร่างกายเสื่อมช้าลง เป็นวิธีการที่นักกายภาพบําบัดใช้ในเกือบทุกเทคนิคการรักษา
- การรักษาด้วยเครื่องมือ
มีเครื่องมือทางการแพทย์ 17 ชนิดที่ถูกกําหนดให้เป็นเครื่องมือทางกายภาพบําบัด เป็นเครื่องมือที่ทําให้เกิดความร้อน ความเย็น หรือกระแสไฟฟ้าที่มีผลต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายแตกต่างกันไป เช่น เครื่องความร้อนคลื่นเหนือเสียง (Ultrasound) เครื่องความร้อนแม่เหล็กไฟฟ้าคลื่นสั้น (Short Wave Diathermy) เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical Stimulation) ได้แก่ เครื่องกระตุ้น (Interferential Current) เครื่องลดปวด (TENS) เป็นต้น
- การรักษาด้วยมือ
ใช้เทคนิคเฉพาะ เช่น การรักษาด้วยการนวด (Massage) การรักษาด้วยการกดขยับข้อต่อ (Mobilization) เป็นต้น เพื่อให้กล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อที่มีปัญหาให้กลับไปเคลื่อนไหวได้ปกติ การเลือกเทคนิคการรักษา มีแบบการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการรักษาร่วมกันหลายอย่าง ขึ้นกับปัญหาของผู้ป่วยและการตัดสินใจเลือกเทคนิคการรักษาของนักกายภาพบําบัด
ส่วนระยะเวลาในการรักษาทางกายภาพบําบัดนั้น จริงๆ เเล้วก็ไม่มีมาตรฐานจํานวนครั้งของการรักษาที่แน่นอนค่ะ สามารถรักษาให้ดีขึ้นในสัปดาห์หรือเป็นเดือนก็เเล้วเเต่เคส ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเกิดโรค นั่นคือการหนาตัวของพังผืดรอบข้อไหล่นั่นเอง และแม้ว่าจะดูเหมือนเป็นโรคที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น แต่หากดูที่สาเหตุจริงๆ แล้ว วัยทำงานอย่างเราๆ ที่ต้องนั่งทำงานในห้องแอร์ และไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกายบ่อยๆ ไม่มีเวลาไปออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสาย ก็อาจเสี่ยงมีอาการไหล่ติดได้เหมือนกัน หากเริ่มมีอาการเมื่อไหร่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาก่อนสายเกินไปนะคะ
เนื้อหาโดย Dodeden.com