ภาวะธัยรอยด์ต่ำแฝง เป็นภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อยในโลกสังคมปัจจุบัน และในศาสตร์ชะลอวัย ภาวะนี้ ไม่จัดว่าเป็นโรคของต่อมธัยรอยด์ แต่เป็นภาวะที่การทํางานของธัยรอยด์ฮอร์โมนไม่เพียงพอใช้แก่ความต้องการ เพื่อสมรรถภาพการทํางานอย่างสูงสุดของร่างกาย และก็ไม่เกี่ยวข้องกับการที่ต่อมธัยรอยด์จะโตหรือไม่โตด้วยเช่นกัน ลองเช็คดูค่ะ ว่าคุณมีอาการต่อไปนี้หรือไม่? อ้วนง่าย ลงยาก ขี้เกียจ ตื่นสาย ง่วงนอนบ่อย ขี้หลงขี้ลืม ท้องผูก ผิวแห้ง ตาบวม นิ้วมือบวม หากใช่เป็นส่วนใหญ่แล้วละก็ ข่าวร้ายก็คือ คุณอาจจะเจอภาวะนี้เข้าให้แล้ว!
ต่อมธัยรอยด์ของเรา อยู่บริเวณลําคอใต้ลูกกระเดือก ในภาวะปกติมักคลําไม่ได้ และมองเห็นไม่ชัดเจน มีหน้าที่ผลิตธัยรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมีบทบาทสําคัญเกี่ยวกับการเผาผลาญพลังงานในเซลล์ การทํางานของระบบสมอง
ดังนั้น เมื่อระดับของธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำลง ก็จะทําให้การเผาผลาญของร่างกายลดลง ทําให้น้ำหนักขึ้นง่าย และลดยาก พยายามควบคุมอาหารหรือออกกําลังกายเพิ่ม น้ำหนักก็ลดลงไม่ได้สัดส่วนที่สมดุลเท่าไรนัก แล้วเผลอๆ ก็ไม่ค่อยอยากออกกําลังกาย เพราะจะรู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ทําให้ตอนเช้าๆ ก็มักจะตื่นสาย ตื่นแล้วก็ยังรู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงระหว่างวัน สมองไม่มีพลังงาน มักจะรู้สึกตื้อๆ ไม่กระปรี้กระเปร่า ขี้หลงขี้ลืม มึนๆ งงๆ ไม่คล่องแคล่วว่องไว
สาเหตุและแนวทางการรักษา
หากใครที่มีกลุ่มอาการที่กล่าวมาข้างต้น ก็อาจจะตรวจเพิ่มเติมโดยการเจาะเลือดตรวจวัดระดับธัยรอยด์ฮอร์โมน เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย ซึ่งในศาสตร์ชะลอวัยแล้ว การตรวจวัดระดับฮอร์โมนในกระแสเลือดนั้น เชื่อถือได้น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการตรวจวัดในปัสสาวะและน้ำลาย แต่เนื่องจากการตรวจอย่างหลังนั้น ทําได้ยุ่งยาก ราคาสูง และยังทําไม่ค่อยได้ในเมืองไทย การตรวจในกระแสเลือดก็อาจจะพอช่วยบ่งชี้นําได้บ้าง ซึ่งในการตรวจนี้ จะดูระดับฮอร์โมนธัยรอยด์ทั้ง 2 ตัว นั่นคือ T3 และ T4 (ธัยรอยด์ฮอร์โมนที่มีแร่ธาตุไอโอดีนเกาะอยู่ 3 และ 4 ตัวตามลําดับ) ซึ่งต่างจากการตรวจวัดโดยปกติทั่วไป ที่ตรวจเฉพาะ T4 อย่างเดียว
T4 เป็นฮอร์โมนที่สร้างเป็นส่วนใหญ่จากต่อมธัยรอยด์ มีฤทธิ์ในการทํางานแบบอ่อนๆ เมื่อเทียบกับ T3 ซึ่งสร้างออกมาจากต่อมน้อยกว่า แต่มักถูกสร้างจาก เนื้อเยื่อทั่วร่างกายเป็นส่วนใหญ่ โดยการเปลี่ยน T4 เป็น T3 (โดยการตัดแร่ธาตุไอโอดีนออก 1 ตัว) T3 เป็นตัวที่มีฤทธิ์มากที่สุด คือเป็นฮอร์โมนที่พร้อมใช้งาน ทันที ดังนั้น การตรวจโดยทั่วไปที่ตรวจเฉพาะ T4 อาจได้ค่าปกติ (นั่นคือต่อมธัยรอยด์ยังสร้างฮอร์โมนได้ตามปกติ) แต่ในภาวะธัยรอยต์ต่ำแฝงนั้น เราพบว่า T3 มีระดับที่ค่อนข้างต่ำ เกือบจะผิดปกติ เพราะร่างกายไม่สามารถเปลี่ยน T4 ให้เป็น T3 ได้นั่นเอง ซึ่งสภาวะนี้ พบได้บ่อยในชีวิตสังคมปัจจุบัน
สาเหตุที่ทําให้ร่างกายเปลี่ยน T4 เป็น T3 ไม่ได้
เป็นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น ความเครียด (ซึ่งพบได้บ่อยเลยทีเดียว) การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินเอ บี2 บี6 บี12 การขาดแร่ธาตุบางชนิด เช่น เซเลเนียม สังกะสี เหล็ก โพแทสเซียมไอโอดีน การอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (สาเหตุนี้ก็พบได้บ่อยเช่นเดียวกัน กล่าวคือ คนที่เคยมีประวัติอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ในช่วงแรกก็ลดลงดี แต่พอทําซ้ำอีกในครั้งหลังๆ รู้สึกว่าน้ำหนักไม่ลดลงเลย)
ทานอาหารแคลอรีต่ำอยู่เป็นประจํา ได้รับสารอาหารเสริมในกลุ่มโปรตีน แคลเซียม ฟลูออไรด์ ทองแดง หรืออัลฟาไลโปอิกแอซิดมากเกินไป การดื่มแอลกอฮอล์จัด ภาวะโลหะหนักปนเปื้อน เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม (ซึ่งอาจปนเปื้อนมาในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันปลาคุณภาพต่ำ) หรือสารเคมีต่างๆ เช่น ไดออกซิน พีซีบี ธาลเลท ยาฆ่าแมลง รวมไปถึงโรคเรื้อรังต่างๆ การผ่าตัด ฉายแสง หรือให้เคมีบําบัดและยาบางชนิด
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า วิถีชีวิตในปัจจุบัน ล้วนล่อแหลมต่อการกดการทํางานของธัยรอยด์ฮอร์โมนทั้งสิ้น ภาวะนี้ จึงตรวจพบได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งในบางแห่ง ก็พบว่า มีอุบัติการณ์ของภาวะนี้ได้ถึง 65-80% และคนที่มาปรึกษาด้วยปัญหาของน้ำหนักเกิน จะตรวจพบภาวะนี้ได้เกินครึ่งเลยทีเดียว หากตรวจพบว่ามีภาวะธัยรอยด์ต่ำแฝงนี้แล้วละก็ การดูแลรักษาก็คือการให้ธัยรอยด์ฮอร์โมนเสริม ซึ่งเป็นคนละรูปแบบกับยาธัยรอยด์ฮอร์โมนในโรคของต่อมธัยรอยด์ (ซึ่งก็คือ T4 หรือ Eltroxin)
ซึ่งการให้ยาตัวนี้ มักจะไม่ค่อยประสบผลสําเร็จดังที่ต้องการ อาจเป็นเพราะร่างกายก็เปลี่ยนเป็น T3 ไม่ได้อีกเช่นเดิม ดังนั้น ในศาสตร์ของแพทย์ชะลอวัย จึงให้ฮอร์โมนเสริมในรูปของ T3 ผสม กับ T4 ซึ่งพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจกว่า ร่วมกับการปรับสมดุลชีวิตประจําวัน การให้อาหารเสริม การล้างสารพิษ การบําบัดความเครียด เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะที่ส่งเสริมการกระตุ้นให้ร่างกายเปลี่ยน T4 เป็น T3 ให้ได้นั่นเอง
……………………………………………..
หลายคนที่สูญเสียเงินไปจํานวนมาก กับการลดน้ำหนัก หรือเครื่องมือลดน้ำหนักที่หลากหลาย แต่กลับไม่เป็นผลนั้น หากตรวจพบภาวะนี้ แล้วทําการแก้ไขที่ต้นเหตุของเจ้าตัวปัญหาอย่างถูกทางแล้วละก็ จะทําให้การควบคุมน้ำหนักได้ผลดีและยั่งยืนกว่า แล้วยังได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปอีกด้วย
เนื้อหาโดย Dodeden.com