กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( กรม สบส ) สั่งปิดคลินิกเสริมความงาม ย่านเพชรเกษม หลังพบเหตุหญิงเสียชีวิตภายหลังการฉีดสารเสริมความงามกับคลินิกดังกล่าว เผยผลสอบพบคลินิกปล่อยให้เจ้าหน้าที่ประจำคลินิกมาฉีดสารเสริมความงามแทนแพทย์ ไม่รอช้าสั่งฟันโทษทั้งเจ้าของกิจการ แพทย์ผู้ดำเนินการ และหมอเถื่อน
จากกรณี ที่มีการพบศพหญิงสาวรายหนึ่งในห้องพัก ย่านถนนเพชรเกษม โดยบุคคลใกล้ชิดเผยว่าผู้เสียชีวิตเพิ่งเข้ารับบริการฉีดสารเสริมความงามกับคลินิกแห่งหนึ่ง ย่านเพชรเกษม 81 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จึงตั้งข้อสงสัยว่าการเสียชีวิตในครั้งนี้จะเกิดจากผลข้างเคียงของการเสริมความงาม หรือเกิดจากการกำเริบของโรคประจำตัวนั้น
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีดังกล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยพนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย กรม สบส.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าคลินิกซึ่งถูกกล่าวอ้างนั้น ตั้งอยู่บริเวณถนนเพชรเกษม ซอย 81 แขวงและเขตบางแค มีการขออนุญาตประกอบกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้บริการเสริมความงาม อาทิ การฉีดสารเสริมความงาม ร้อยไหม ฯลฯ แต่ ณ เวลาที่ผู้เสียชีวิตเข้ารับบริการนั้น คลินิกได้เปิดทำการก่อนเวลาที่ได้รับอนุญาตจึงถือว่าคลินิกดังกล่าว เปิดกิจการและดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีพนักงานประจำเคาน์เตอร์ซักถามข้อมูลเพื่อจัดทำประวัติ และให้ผู้ช่วยแพทย์เป็นผู้ให้บริการฉีดสารเสริมความงาม ประเภทคลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) หรือที่เรียกกันจนติดปากว่าโบท๊อกซ์ (Botox) ซึ่งต่อมาเมื่อคลินิกได้ทราบข่าวว่าผู้รับบริการเสียชีวิตก็ได้มีการจัดทำประวัติผู้ป่วยขึ้นใหม่ โดยเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจ มิได้หวั่นเกรงต่อกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ฯจึงไม่รอช้าดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับผู้ก่อเหตุโดยทันที พร้อมมีคำสั่งปิดคลินิกดังกล่าวเป็นการชั่วคราว 30 วัน และจะเสนอคณะกรรมการสถานพยาบาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล และจะได้ส่งตัวอย่างยาและเวชภัณฑ์ที่ตรวจยึดได้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบว่ามีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการตามกฎหมายนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ได้มีการแจ้งข้อหาการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติ 2 ฉบับ ประกอบด้วย
1.เจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์ และผู้ช่วยแพทย์ ฐานเป็นหมอเถื่อน มีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ฐานประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจัดทำหลักฐานเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และ 3.แพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ฐานไม่ควบคุมดูแลปล่อยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกำอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแพทย์ได้ส่งให้แพทยสภาเพื่อดำเนินการด้านจริยธรรมกับแพทย์ผู้ดำเนินการต่อไป
สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่