นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยทั่วโลกมีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 12.7 ล้านราย ส่วนไทยพบเพศชายป่วยโรคมะเร็งตับมากที่สุด ในเพศหญิงพบโรคมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับแรก ซึ่งร้อยละ 30 – 40 ของโรค

เกิดจาก 5 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ค่าดัชนีมวลกายสูงเกินค่ามาตรฐาน พฤติกรรมในการบริโภค ขาดการออกกำลังกาย การสูบบุรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้คนไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคมะเร็งทางระบบโลหิตมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่พบได้บ่อย คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

11.jpg

จากสถิติมะเร็งชนิดนี้เป็นมะเร็งระบบเลือดที่พบได้มากที่สุดในไทยและโลก ติดอันดับ 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย โดยมีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองปีละกว่า 1,000 ราย

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวถึง สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าเกิดจากต่อมน้ำเหลืองหรือเนื้อเยื่อน้ำเหลือง มีภาวะการเจริญเติบโตมากเกินไป โดยปกติระบบน้ำเหลืองของร่างกายมีหน้าที่ต่อสู้เชื้อโรค โดยการขนส่งน้ำเหลืองไปตามหลอดน้ำเหลืองทั่วร่างกาย

เมื่อต่อมน้ำเหลืองทำงานผิดปกติ ปัญหาที่สำคัญคือ ภูมิคุ้มกันต่ำลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ที่น่าห่วงคืออาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสังเกตยาก เพราะเหมือนอาการอื่นๆ ที่พบได้ในภาวะต่างๆ เช่น การติดเชื้อ ภูมิแพ้ จึงมีผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องแต่แรก

โดยทั่วไปอาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มักจะกินเวลานาน และไม่สามารถอธิบายได้จากสาเหตุอื่น จะมีอาการ คือ พบก้อนที่บริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น ที่คอ รักแร้ หรือ ขาหนีบ โดยก้อนที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นมักไม่เจ็บ ซึ่งต่างจากการติดเชื้อที่มักมีอาการเจ็บที่ก้อน

นอกจากนี้ยังมีอาการ ไข้ หนาวสั่น มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดอ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ ไอเรื้อรัง และหายใจไม่สะดวกต่อมทอนซิลโต อาการคันทั่วร่างกาย ปวดศีรษะ  ดังนั้น ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี เพศชาย เนื่องจากพบมากกว่าเพศหญิง การติดเชื้อแบคทีเรีย ภาวะพร่องภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น ผู้ป่วย HIV และ ผู้ป่วยโรค SLE เป็นต้น ควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และหากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค เพราะหากรักษาในระยะเริ่มต้น สามารถหายขาดได้

557000010251702

“ที่สำคัญคือ การหลีกเลี่ยงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง เช่น งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี รับประทานอาหารที่หลากหลายครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจ ให้แจ่มใส จะทำให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง” ผอ.สถาบันมะเร็ง กล่าว

ขอบคุณเนื้อหาจาก ผู้จัดการ

เรื่องน่าสนใจ