ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายปรีชา บุตรรอด อายุ 50 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี อยู่บ้านเลขที่ 164 หมู่ 4 บ้านบ่อปะหัง ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี จึงไปตรวจสอบพบค้างคาวดังกล่าวเป็นค้างคาวมีขนาดเล็กมาก ขนาดน้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม เป็นเพศผู้ ลำตัวกว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7 เซนติเมตร จับกางปีกออก มีขนคลุมลำตัวยาว หนาแน่น และปุย ใบหูค่อนข้างใหญ่

11.jpg

ด้านบนลำตัวสีส้มสด หน้าอกสีเหลืองนวลอ่อนเกือบขาว ปีกทั้ง 2 ข้างเมื่อกางออก วัดจากปลายปีกขวาถึงปลายปีกซ้ายยาว 23 เซนติเมตร มีลวดลายสีสันสีดำสลับส้มสวยงาม

นายปรีชา บุตรรอด เผยว่า เมื่อคืนวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ได้ขับรถยนต์กระบะบิ๊กเอ็ม สีน้ำเงิน ทะเบียน บธ 7346 เพชรบุรี ไปทำธุระนอกบ้าน และกลับเข้าบ้านเมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. แล้วนำรถมาจอดในโรงจอดรถ ซึ่งไม่พบสิ่งผิดปกติ

กระทั่งรุ่งเช้าวันที่ 16 ต.ค. ตนตื่นนอนเดินมาที่รถ พบว่ามีก้อนสีส้มติดอยู่ที่กระจังหน้ารถด้านซ้ายใกล้ป้ายทะเบียนเมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ ก็พบค้างคาวตัวดังกล่าวตายติดอยู่ คาดว่าจะถูกรถของตนชนขณะบินผ่านในช่วงถนนที่สองข้างทางเป็นสวนกล้วยและป่าละเมาะ

“ปัจจุบันผมอายุ 50 ปีทำสวนเกษตร กล้วย ผลไม้ มานานหลายสิบปี ไม่เคยเห็นค้างค้าวลักษณะสีสันสวยงามแบบนี้ จึงเรียกเพื่อนบ้านมาดู ทุกคนยืนยันไม่เคยพบเห็นมาก่อนในชีวิตคิดว่าน่าจะเป็นค้างคาวพันธุ์หายาก หรือพันธุ์แปลก ตอนนี้ในหมู่บ้านฮือฮาสนใจเดินทางมาขอดูกันมาก จากนี้จะมอบให้ อบต.เขากระปุกไปสต๊าฟเพื่อเก็บไว้ให้ลูกหลานดูต่อไป” นายปรีชากล่าว

นายเกียรติศักดิ์ กล่อมสกุล ผู้ประสาน กลุ่มดูนกเพชรบุรี กล่าวว่า ค้างคาวประหลาดที่พบดังกล่าวเป็นค้างคาวพันธุ์หายาก มีชื่อเรียกว่า “ค้างคาวยอดกล้วยปีกผีเสื้อ” หรือ ค้างคาวสี  มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Kerivoula picta เป็นค้างคาวขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ค้างคาวกินแมลง (Vespertilionidae) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในยอดใบกล้วยที่ม้วนเป็นหลอด และจะย้ายไปเรื่อยๆ เมื่อยอดกล้วยแก่ขยายออก

นอกจากนี้ยังพบเกาะอยู่ตามใบแห้งของต้นไม้ ยอดหญ้าพง ยอดอ้อ และยอดอ้อย กระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา พม่า ตอนใต้ของประเทศจีน เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย พบไม่บ่อยและมีปริมาณไม่มากนัก แต่พบทุกภาค ลักษณะการบินคล้ายผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ แต่บินเร็วกว่ามาก ถือเป็นสัตว์หาดูยากมาก มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

 

ที่มา ข่าวสด

เรื่องน่าสนใจ