โดย สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยระบุว่า โรคเหา (pediculosis capitis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียนมักจะประสบพบเจอกับโรคเหากันอยู่เป็นประจำ อายุที่พบได้บ่อยคืออยู่ในช่วงอายุ 3-11 ปี และจะพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โรคเหาเป็นโรคที่เกิดจากตัวเหา อาศัยอยู่บนหนังศีรษะและเส้นผม และอาศัยเลือดบนหนังศีรษะเป็นอาหาร
รูปที่ 1 แสดงลักษณะไข่เหาที่มีลักษณะเป็นจุดสีขาว เหลืองบนเส้นผมที่บริเวณโคนผมและกลางเส้นผม
ซึ่งมักจะสร้างความรำคาญและรบกวนชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดอาการแสดงที่หลากหลายได้ เช่น อาการคัน อาการระคายเคืองบนหนังศีรษะ ซึ่งการติดต่อและการแพร่กระจายของโรค เกิดจากศีรษะสัมผัสกันโดยตรง และจากการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น หวี แปรงผม หมวก ผ้าเช็ดศีรษะ หมวกกันน็อค เป็นต้น
ลักษณะของอาการแสดงที่พบได้ เช่น หนังศีรษะแดง เป็นขุยหรือเป็นสะเก็ด อาจพบรอยเกาที่บริเวณหนังศีรษะ บนเส้นผมมีลักษณะเป็นจุดสีขาว (ไข่เหา) ขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร พบมากที่บริเวณท้ายทอยและหลังใบหู ซึ่งมีได้ทั้งไข่ที่มีตัวอ่อนอยู่ภายในจะมีสีเหลืองเข้ม หรือไข่ที่ฝ่อแล้วจะมีสีขาว
อาการคันเป็นอาการสำคัญที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะเมื่อมีการติดเชื้อเป็นระยะเวลานาน และอาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำร่วมกับการมีสะเก็ดน้ำเหลือง อาจพบต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณคอโตร่วมด้วย การที่เราจะรู้ว่าเป็นโรคเหาหรือติดเหานั้น วินิจฉัยโดยอาศัยจากการตรวจหนังศีรษะ ซึงจะพบตัวเหา ไข่เหา หรือตัดเส้นผมออกมาตรวจทางกล้องจุลทัศน์จะพบไข่เหาที่เกาะติดอยู่ที่เส้นผม มีขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ซึ่งจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะการระคายเคืองบนหนังศีรษะอย่างชัดเจนเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงว่า เกิดจากรังแคบนหนังศีรษะ ผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน หรือขุยขาวจากการติดเชื้อราบนหนังศีรษะและเส้นผมหรือเกิดจากการติดเหา
ขั้นตอนการรักษาโรคเหานั้นไม่ยาก จะต้องรักษาความสะอาดบนหนังศีรษะเป็นสิ่งสำคัญ การเป็นเหาอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์กับเศรษฐานะของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีฐานะดีอาจพบโรคเหาได้ เช่นกัน ดังนั้นขั้นตอนการรักษาเบื้องต้น คือการนำเอาตัวเหาและไข่เหาออกจากเส้นผมและหนังศีรษะโดยการแปรงออก หรือเป่าลมแรงออก สามารถช่วยลดจำนวนของไข่เหาและตัวเหาบนหนังศีรษะได้ดี แต่อาจไม่เพียงพอในการรักษา จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาหรือสารเคมีชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย และควรให้การรักษาทุกคนในครอบครัวในเวลาเดียวกัน แม้ว่าจะยังไม่มีอาการของความผิดปกติ เนื่องจากวินิจฉัยยากในระยะเริ่มแรกของโรค และเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค
รูปที่ 2 แสดงลักษณะไข่เหาที่เกาะติดอยู่บนเส้นผม เมื่อดูด้วยกล้องจุลทัศน์จะพบตัวอ่อนของเหาอยู่ภายในไข่เหา
สิ่งสำคัญที่สุด คือควรหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน หมวกกันน็อค หวี แปรงผม เพราะทำให้เกิดการแพร่กระจายโดยตรงจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้อย่างง่ายดาย และทำลายไข่เหาที่ติดอยู่โดยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
การป้องกันโรคเหานั้นทำได้ไม่ยาก แค่หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกันและทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ด้วยการนำมาต้มในน้ำร้อนมากกว่า 50 องศาเซลเซียสเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 นาที
รวมถึงนำของใช้และอุปกรณ์ใส่ผม เส้นผมที่ตัดทิ้ง ใส่ไว้ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่และรัดปากถุงเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์เพื่อกำจัดตัวเหาที่จะฟักออกจากไข่เหา ทำให้ตัวเหาที่ฟักออกมาไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะไม่มีอาหาร เหาสามารถเป็นซ้ำได้ ถ้ายังรักษาไม่หายขาดหรือได้รับเหามาใหม่ ก็จะกลับมาเป็นซ้ำเหมือนเดิม
ที่มา ผู้จัดการ