ปัจจุบันโลกโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทกับผู้คนในทุกๆ ด้าน เพราะเป็นสังคมที่ “เชื่อม” ผู้คนทั้งโลก เสมือนว่าอยู่ใกล้กันแค่คืบ ทั้งยังเป็นช่องทางที่รวดเร็วในการสื่อสารสิ่งต่างๆ ที่ประหยัด และเข้าถึงกลุ่มคนต่างๆ ได้ง่าย
หลายองค์กรจึงเห็นความสำคัญของ “โซเชียลมีเดีย” จึงมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เข้ามาช่วยเสริมการโปรโมทผลิตภัณฑ์ขององค์กรต่างๆ นั่นก็คือ ‘ธุรกิจเน็ตไอดอล’ ซึ่งใช้ประโยชน์จากเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เข้ามาเป็นตัวขยายธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ของแต่ละองค์กร
โดยเลือกจากบุคคลที่มีรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณดี และเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์ โดยวัดจากยอดคนที่เข้ามาติดตาม (Followed)…เข้ามาช่วยในโปรโมทแบรนด์ต่างๆ จากเดิมที่เจ้าของสินค้ามักจะเลือกใช้ “ดารา-นักแสดง” ที่มีชื่อเสียง มาเป็นพรีเซนเตอร์
ความเหมือนในความต่างที่เห็นชัดเจนคือ ‘โมเดลลิ่ง’ จะทำหน้าที่เสาะหาคนรูปร่างหน้าตาดี เพื่อสร้างหรือปั้นเด็กเข้าสู่วงการบันเทิง ขณะที่ ‘ธุรกิจเน็ตไอดอล’ จะค้นหาเหล่าเน็ตไอดอลที่ได้รับความนิยม มีผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นฐานสร้างความโด่งดังให้กับตัว ‘เน็ตไอดอล’ แต่ละคนเอง
“พัชร ศิริเกียรติสูง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นัฟแนง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแรกๆ ที่เริ่มต้นทำธุรกิจนี้ในประเทศไทย ให้ความเห็นว่า เราเป็นเอเจนซี่ จัดหางานให้กับบรรดาน้องๆ เน็ตไอดอล
โดยคัดเลือกเน็ตไอดอล ที่ดังจากโลกออนไลน์ ซึ่งมีเกณฑ์เบื้องต้นคือ ต้องมียอดผู้ติดตามตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป และมีบุคลิกภาพ หน้าตาดี จากนั้นจะคัดเลือกเพื่อนำไปเสนอกับแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่สนใจ
“บุคคลที่เลือกมา จะต้องไม่ใช่คนที่ดังในโลกออนไลน์จากเรื่องฉาวๆ หรือถ่ายภาพโป๊ เพราะจะส่งผลกระทบต่อแบรนด์สินค้า ขณะเดียวกันความสามารถพิเศษของเน็ตไอดอลก็มีความจำเป็น
เพราะสินค้าบางประเภทที่เข้ามาติดต่อ ต้องการเน็ตไอดอลที่มีความสามารถพิเศษ เช่น ว่ายน้ำ เล่นกีฬา เล่นดนตรีได้ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เด่นชัดขึ้น ซึ่งมีตั้งแต่แนวความสวยความงาม ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า”
ลักษณะของเนื้องานจะเป็นการโปรโมทสินค้าแบรนด์ต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียส่วนตัวของเน็ตไอดอลเอง ทั้งทาง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ซึ่งขณะนี้การใช้เน็ตไอดอลประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านทาง “อินสตาแกรม” กำลังเป็นที่นิยมและได้ผลสูงสุด สังเกตได้จากมีการจ้างดารานักแสดงโพสต์ภาพคู่กับสินค้าให้เห็นกันทั่วไป
“สิ่งหนึ่งที่ทำให้ ‘ธุรกิจเน็ตไอดอล’ กำลังเป็นไปได้สวย คือ ‘ค่าตัว’ ที่มีราคาต่ำกว่าเหล่าดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง จึงเป็นเหตุผลที่หลายๆ แบรนด์เริ่มหันมาใช้บริการนี้ ในการโปรโมท์สินค้า ซึ่งปีหน้าตั้งใจจะขยายฐานกลุ่มลูกค้า โดยจะโปรโมทเหล่าเน็ตไอดอล ให้เป็นที่รู้จักในสื่อออฟไลน์ด้วย เพราะกลุ่มลูกค้าจะได้เพิ่มมากขึ้น”
“เบลล์-อรณัฐ วรนันทวัฒน์” หนึ่งเน็ตไอดอลที่ทำงานด้านนี้ เล่าถึงเส้นทางก่อนมายืนอยู่จุดนี้ว่า ตนเองเดินสายประกวดเวทีต่างๆทำให้คนเริ่มรู้จัก ทั้งถ่ายแบบลงหนังสือ นิตยสาร ทำให้ยอดคนติดตามในโลกโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความน่ารักสดใส และมีเอกลักษณ์ จึงทำให้มีคนชื่นชอบมากขึ้น เวลาลงภาพต่างๆ จะต้องสังเกตว่ารูปจะโป๊หรือไม่ นั่งไม่เรียบร้อยหรือไม่ เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงได้
ขณะที่ “แท๊ป-สุทิชา รัตนสุวรรณ” เน็ตไอดอลอีกคนบอกว่า การเป็นเน็ตไอดอล จะต้องมีภาพลักษณ์ที่ดี ไม่มีเรื่องเสื่อมเสียชื่อเสียงทั้งต่อตนเองและครอบครัว และที่สำคัญจะต้องมีความเป็นตัวเองอีกด้วย
‘ธุรกิจเน็ตไอดอล’ ที่ใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย ถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าจับตามอง แต่จะอยู่ได้ยืนยงหรือไม่…ผลงานและเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ธุรกิจใหม่ตัวนี้
ที่มา เดลินิวส์