ขอย้อนรอยเหตุการณ์เพลิงไหม้ อดีตผับหรู ย่านเอกมัย ‘ซานติก้าผับ’ โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ส่งท้ายปี พ.ศ.2551 การสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 66 ศพ และบาดเจ็บอีกกว่า 250 ราย เพื่อเป็นอุทธาหรณ์และเตือนสตินักท่องราตรีและผู้ประกอบการในช่วงปีใหม่นี้…

01

เสียงตะโกน ‘ไฟไหม้’ จากสมาชิกวงเบิร์นหลังจุดพลุดอกไม้ไฟภายในร้านคำว่า HAPPY NEW YEAR ในช่วงเวลา 0.30 ของวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2552 ซึ่งเป็นเหตุให้ประกายไฟของพลุไปติดบนเพดานจนเกิดเปลวเพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็ว

ท่ามกลางความแตกตื่นของนักท่องราตรีและการหนีเอาตัวรอดกันอย่างอลหม่าน เสียงกรีดร้อง และโหยหวนเพื่อขอความช่วยเหลือจากเปลวเพลิงที่ถาโถมกระหน่ำ ต่างหนีตายกันอย่างชุลมุน

02

ขณะที่ประตูหนีไฟของสถานบันเทิงแห่งนี้ กลับมีเพียงแค่ 2 ทาง โดยทางแรกเป็นทางหนีไฟที่ติดป้ายบอกไว้อย่างชัดเจน แต่อีกทางกลับรู้กันเพียงแค่เฉพาะพนักงานภายในร้าน และนักร้องที่มาร่วมงานเท่านั้น อีกทั้งหน้าต่างยังติดเหล็กดัดจากด้านนอกอย่างหนาแน่น ทำให้มีทางหนีไฟไม่เพียงพอต่อนักท่องเที่ยว ซึ่งมีมากถึง 1,200 ราย

หลังจากเพลิงไหม้สงบลง ซากความสูญเสียก็เริ่มโผล่ให้เห็น ศพนักท่องราตรีหลายสิบคนที่ล้มทับกันเป็นกองอยู่ตรงประตูทางออก บางรายถูกไฟไหม้จนจนแทบจะพิสูจน์บุคคลไม่ได้ นอกจากนี้บางรายที่รอดชีวิตก็เอาตัวรอดจนเกือบปางตายมาแล้ว ถึงขั้นพิการประกอบอาชีพไม่ได้เลยก็มี

ขณะที่มีคำถามจากหลายทิศทางเกี่ยวกับมาตรฐานของสถานบันเทิงโดยเฉพาะกรณีของ ซานติก้าผับ ซึ่งเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2546 แต่ทางสำนักงานตำรวจนครบาลอ้างว่าอยู่ระหว่างการก่อสร้างและอยู่นอกพื้นที่โซนนิ่ง จึงไม่อนุญาตให้เจ้าของเปิดบริการ จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต

โดยมีเสี่ยขาว เจ้าของกิจการ เดินหน้าร้องต่อศาลปกครองในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2547 ขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้ธุรกิจสถานบันเทิงของตนสามารถเดินหน้าเปิดบริการต่อไปได้ โดยศาลปกครองสั่งคุ้มครองในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 จนเป็นเหตุผลให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาเป็นข้ออ้าง

ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทีมโฆษกของศาลปกครองได้ออกมาระบุว่า คำสั่งที่ศาลปกครองสั่งคุ้มครองไปเมื่อวันที่ 2 ก.ค นั้น ได้มีคำสั่งแย้งจากทางศาลปกครองสูงสุดให้ยกคำร้องคำสั่งคุ้มครองของการศาลปกครองไปตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม ในปีเดียวกัน

จนกระทั่งในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2550 ศาลปกครองพิพากษาผู้กำกับ สน.ทองหล่อ ให้แพ้คดี เพราะผู้ประกอบการยื่นตั้งสถานประกอบการไม่ขัดต่อกฎหมาย และยื่นก่อนที่พระราชบัญญัติจัดโซนนิ่งจะออกมา แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจขอยื่นอุทธรณ์ แต่เรื่องยังไม่ทันคืบหน้าก็เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าว

จากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้มีการฟ้องร้องจากผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งทางแพ่ง และทางอาญา รวมหลายคดี ในการสอบสวนเบื้องต้นของทางเจ้าพนักงานได้ออกหมายเรียกให้ นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ หรือ เสี่ยขาว หุ้นส่วนใหญ่ของซานติก้าผับ

และนายสุริยา ฤทธิ์ระบือ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ แจ้ง 2 ข้อหา ร่วมกันกระทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจสถานบันเทิง โดยปล่อยให้เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปใช้บริการ ซึ่งผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ได้ยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัวเป็นเงินสดจำนวนสูงถึง 1 ล้านบาท

จากนั้นก็มีการออกหมายจับ ‘มิว’ นักร้องนำวงเบิร์น ที่มีพยานระบุว่าเป็นคนจุดดอกไม้ไฟ จนมิวเข้ามอบตัวปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า ไม่ได้เป็นคนจุดดอกไม้ไฟตัวต้นเพลิง แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ออกมาโต้ทางตำรวจเรื่องมิว ที่ไม่ได้เป็นคนจุดดอกไม้ไฟและเรื่องราวต่าง ๆ แต่ทำไปทำมา วันที่ 19 ต.ค. 2552 พนักงานสอบสวนก็ส่งสำนวนคดีเพลิงไหม้ซานติก้าให้อัยการ

โดยพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 กับโจทก์ รวมญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวม 64 คน ฟ้อง นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ หรือ ‘เสี่ยขาว’ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (2003) พร้อมพวกรวม 6 ราย ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 225, 291, 300, 390 และกระทำผิด พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 16/1, 16/3.27 และ 28/1 ฐานเป็นผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการปล่อยปละละเลยให้บุคคลซึ่งอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปในสถานบริการ และปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานบริการ มาตรา 291 รวม 6 ข้อหา

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2552 มีกลุ่มผู้เสียหาย 12 คน ไปยื่นฟ้อง กทม. ต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากละเลยไม่ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมอาคารที่เปิดเป็นสถานบริการ ซานติก้าผับ โดยให้ตรวจสอบโครงสร้างของอาคาร ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพมั่นคงและปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นเหตุเกิดเพลิงไหม้

จนล่าสุดศาลปกครองอ่านคำพิพากษาให้ กทม. ชดเชยค่าเสียหายให้ทั้ง 12 คน ในจำนวนร้อยละ 20 ของค่าเสียหายทั้งหมดที่ผู้เสียหายเรียกร้อง พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา เนื่องจากศาลเห็นว่า กทม. มีส่วนร่วมในการปล่อยปละละเลยการตรวจตราสถานบันเทิง ซานติก้าผับ

ส่วนคดีอาญา เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก นายวิสุขและนายบุญชู เหล่าสีนาท เจ้าของบริษัท โฟกัสไลท์ ซาวน์ ซิสเท็ม ซึ่งรับจ้างทำเอฟเฟกต์ให้ซานติก้าผับ เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งศาลพิเคราะห์หลักฐาน เห็นว่า ซานติก้าผับไม่มีระบบป้องกันเพลิงไหม้ ไม่มีทางหนีไฟ ไม่มีระบบไฟฉุกเฉิน และใช้วัสดุภายในที่ติดไฟได้อย่างรวดเร็ว ถือว่าไม่ตรงตามความปลอดภัยที่กฎหมายกำหนด ส่วนจำเลยที่เหลือให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมให้แก่ผู้เสียหาย เป็นเงินรวม 8.7 ล้านบาท เว้น นายสราวุธ อะริยะ นักร้องวงเบิร์น คนจุดพลุไฟขึ้นเพดาน จนทำให้เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งศาลมีคำสั่งยกฟ้อง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557 ศาลอาญามีคำสั่งจำคุก 12 เดือน ไม่รอลงอาญา นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ หรือเสี่ยขาว พร้อมพวกมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิต ด้วยการไม่ยื่นแสดงแบบรายการภาษีและไม่ชำระภาษีสรรพาสามิต ต่อกรมสรรพสามิต รวมยอดเงินทั้งสิ้น 85,382,470.67 บาท ทำให้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังได้รับความเสียหายอย่างไรก็ตาม ทนายความของนายวิสุข ระบุว่า ได้เตรียมหลักทรัพย์เพื่อยื่นประกันตัวและอุทธรณ์คดีต่อไป

การเกิดเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ สังคมเกิดข้อสงสัยหลายประการที่เกี่ยวกับมาตรการดูแล และมาตรฐานของการออกแบบอาคารเพื่อสร้างเป็นสถานบันเทิง รวมถึงสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ต้องผ่านการรับรองโดยตรงจากทางกรุงเทพมหานคร และกฎเกณฑ์รายละเอียดในสถานบันเทิงที่จำเป็นต้องมี อาทิ ประตูทางออก ป้ายบอกทางที่ต้องชัดเจน และปริมาณความหนาแน่นของประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการ

 ขณะที่คำสั่งศาลระบุว่า พื้นที่ของซานติก้า สามารถจุคนได้เพียง 500 คนเท่านั้น แต่ในวันเกิดเหตุกลับมาคนเข้าไปสูงถึง 1,200 คน อีกทั้งยังไม่มีป้ายบอกทางหนีไฟ ระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ และไม่มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ

พ.ต.อ.พิชัย เกรียงวัฒนศิริ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยสถานบันเทิงและจุดเสี่ยงในช่วงเทศกาลสำคัญว่า สถานบันเทิงในกรุงเทพมหานคร หรือในประเทศไทยเองนั้นมักจะมีประตูทางออกเพียงทางเดียว

ซึ่งจะใช้ร่วมกับทางเข้าในการตรวจค้นสิ่งของ อีกทั้งทางหนีไฟก็ไม่มีป้ายบอกชัดเจน ซึ่งจะรู้กันเพียงแค่เฉพาะพนักงานภายในร้านเท่านั้น แต่เนื่องจากกฎหมายควบคุมอาคารให้แยกทางออกและทางหนีไฟออกจากกัน

“ช่องทางหนีไฟ ต้องเป็นช่องทางที่ปลอดภัยที่สุดในช่วงที่เกิดเพลิงไหม้ ต้องมีประตูที่สามารถกันได้และทนทานได้ระยะเวลานาน ซึ่งเมื่อมีคนเข้าไปหลบหรือใช้ช่องทางนั้น เขาจะต้องปลอดภัย 100%” พ.ต.อ.พิชัย กล่าว

สถานบันเทิงควรเลิกเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเอง แล้วควรหันมาใส่ความปลอดภัยให้มากขึ้น !?

พ.ต.อ.พิชัย กล่าวกับทีมข่าวอย่างดุเด็ดว่า เจ้าของสถานบันเทิงควรเลิกเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเอง และควรหันมาใส่ใจถึงความปลอดภัยของผู้เข้าใช้บริการให้มากขึ้น ซึ่งถ้าต้องใช้กฎหมายควบคุมอาคารเข้าตรวจสอบ คงมีสถานบันเทิงน้อยมากที่จะทำถูกต้องตามหลักของกฎหมาย ซึ่งทางออกอย่างน้อยควรจะมี 2 ทาง และในขณะที่สถานบันเทิงขนานใหญ่ย่านทองหล่อ และเอกมัยควรมีทางหนีไฟมากถึง 4-5 ทางด้วยซ้ำ

แต่ทุกวันนี้ทางหนีไฟบางที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง บางช่องทางรู้กันแค่พนักงานและเจ้าของร้าน หรือบางสถานที่พนักงานเองยังไม่รู้ประตูหนีไฟที่ชัดเจนเลย ซึ่งผู้ประกอบการหรือเจ้าของสถานบันเทิงควรที่จะมีการอบรมพนักงาน และให้ความรู้เกี่ยวกับการหนีเอาตัวรอดจากเหตุไฟไหม้

หรือให้รีบช่วยเหลือผู้เข้าที่ใช้บริการให้ปลอดภัย และเกิดความสูญเสียให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ทางเข้าออกหรือสถานที่จอดรถของสถานบันเทิงก็ไม่ควรกีดขวางทางจราจร เพราะถ้าหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นมาจริง จะทำให้การสัญจรของหน่วยดับเพลิงเข้าทำงานได้ช้าลง

พ.ต.อ.พิชัย อธิบายถึงมาตรการเตรียมความพร้อมของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่า โดยปกติแล้วเราจะเตรียมความพร้อมกันตลอด 24 ชั่วโมง เพราะไม่สามารถทราบได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อไหร่ ซึ่งในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่นั้น เราจะมีแผนรองรับทั้งหมด 35 สถานีดับเพลิงใหญ่ทั่วกรุงเทพมหานคร และมีอีก 14 สถานีย่อย นอกจากนี้เราจะนำรถดับเพลิงไปประจำการในสถานที่เสี่ยงภัย และชุมชนแออัด อีกกว่า 35 สถานีย่อย โดยเรามีนโยบายว่าต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว จะต้องไปถึงหมายให้ได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 8 นาที แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการจราจรในช่วงเวลานั้นด้วยเช่นกัน

พ.ต.อ.พิชัย อธิบายวิธีการหนีเอาตัวรอดได้อย่างละเอียดว่า สิ่งแรกที่ต้องพกติดตัวไม่ว่าจะสถานการณ์ใดก็คือ สติ เพราะถ้าหากเรามีสติ ก็จะสามารถนำพาความคิดและวิธีการแก้ไขออกมาได้ ต่อมาเมื่อเรามีสติแล้วถ้ามีเวลา เราต้องเข้าไปดึงอุปกรณ์เตือนภัยในบริเวณใกล้เคียง เพื่อแจ้งเตือนคนอื่นๆ ในบริเวณให้ทราบ

แต่ถ้าหากพบถังดับเพลิงใกล้เคียงก็นำมันมาใช้เพื่อดับไฟในเบื้องต้นก่อนได้ และเมื่อยังไม่สามารถดับไฟได้ ให้รีบวิ่งและปิดประตูอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เพลิงไหม้ลุกลาม และในช่วงเวลาหนีต้องใช้ทางหนีไฟเท่านั้น ห้ามใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาด แต่ถ้าหากบันไดหนีไฟมีควันไฟพวยพุ่งออกมา ให้ใช้วิธีการหมอบและคลานลงบันได เพื่อจะไม่สำลักควันไฟได้

ต่อมาถ้าหากเกิดมีเปลวไฟติดเสื้อหรือชุดที่สวมใส่ ให้รีบกลิ้งลงไปดิ้นกับพื้น เพื่อหยุดเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น ห้ามสลัดหรือวิ่งเด็ดขาด เพราะจะเป็นการช่วยให้เปลวเพลิงรุกมากยิ่งขึ้น ก่อนสุดท้ายอย่าหวงข้าวของที่นำติดตัวมา จะหยิบก็ต่อเมื่อจำเป็น เพราะทรัพย์สินไม่ตายก็หาใหม่ได้ แต่ร่างกายตายแล้วไม่ฟื้นกลับ

สั่งคุมเข้มสถานบันเทิงทั่ว กทม. ห้ามจุดพลุเด็ดขาด !!

 พล.ต.อ.สุรศักดิ์ สุรินทร์แก้ว รองผู้กำกับการฝ่ายปราบปราม สน.ทองหล่อ สั่งห้ามสถานบันเทิงจุดพลุทั้งข้างนอกและข้างในบริเวณสถานประกอบการ โดยเฉพาะในพื้นที่ทองหล่อที่สั่งคุมเข้มเป็นพิเศษ เพราะเคยมีกรณีของซานติก้าผับเป็นตัวอย่างให้เห็น นอกจากเรื่องพลุแล้ว ยังมีอีกสองเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขันเป็นพิเศษก็คือ ยาเสพติด และอาวุธ ซึ่งทางการ์ดของสถานบันเทิงและพนักงานภายร้านจะได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกราย เพื่อฝึกทักษะการตรวจค้นสารเสพติดและตรวจค้นนักท่องเที่ยวที่แอบลักลอบพกพาอาวุธเข้ามาในสถานประกอบการ เพื่อให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้นได้

santika

ช่วงเทศกาลเปิดได้ถึง 6 โมงเช้า ?

 พ.ต.อ.สุรศักดิ์ เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ทางกฎหมายมีการอนุโลมให้สถานบันเทิงเปิดบริการได้ถึง 6 โมงเช้า และจะจัดชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นเป็นระยะ เพื่อป้องกันผู้ที่นำสิ่งของต้องห้ามเข้าไปใช้ในสถานบันเทิง แต่สถานบันเทิงในย่านทองหล่อนั้น การพกพาอาวุธ และนำสิ่งของต้องห้ามเข้าไปใช้ อาทิ ยาเสพติด หรือพลุไฟ ในช่วงที่ผ่านยังไม่เคยพบหรือมีคดี เพราะเมื่อถ้าหากการ์ดของสถานบันเทิงตรวจพบ จะทำการแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและนำตัวมาดำเนินคดีทันที จะไม่ปล่อยให้นักท่องเที่ยวลักลอบนำเข้าไปใช้

นอกจากนี้ ซอยคาวบอย นานา ยังเป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดให้เป็นโมเดลตัวอย่างของสถานบันเทิงที่ปลอดภัยไร้สารเสพติด และอาวุธ เพราะทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปให้ความรู้กับผู้ประกอบการตลอดเวลา ซึ่งถ้าหากพบสถานการณ์ไม่ปกติ อาทิ นักท่องเที่ยวมึนเมาจากสุราจนไม่ได้สติ หรือมีนักท่องเที่ยวพกพาอาวุธ ทางสถานประกอบการจะนำตัวมาส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะผู้ประกอบการเองก็อยากให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการได้อย่างปลอดภัย

ดีเจภูมิขอเตือนสติ..!

 ดีเจหนุ่มหุ่นล่ำ เจ้าของผลิตภัณฑ์เพิ่มขนาดอวัยวะเพศชาย เปิดเผยถึงเหตุการณ์ซานติก้าผับ ขณะที่ตนเองอยู่ในเหตุการณ์ว่า เป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัวและยังจำภาพติดตาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนตัวก็อยากแนะนำให้นักท่องราตรีมีสติในการท่องเที่ยว ไม่ใช่เมาจนไม่รู้สึกตัวที่จะเอาตัวรอดได้ และเวลาเข้าไปใช้บริการสถานบันเทิงก็ต้องสังเกตถึงประตูทางออก ทางหนีไฟให้แน่ชัด ไปลองเปิดดูว่าใช่ทางหนีจริงๆหรือเปล่า

ดีเจภูมิอธิบายถึงลักษณะของสถานบันเทิงในประเทศไทยว่า มีลักษณะที่เหมือนกันหมด ประตูทางหนีไฟก็จะรู้กันเองแค่พนักงานและเจ้าของกิจการ ดังนั้นควรมีการปรับปรุง และติดป้ายให้ชัดเจน อีกทั้งควรอำนวยความสะดวกให้ประชนชนที่เข้าใช้บริการในขณะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ไม่ใช่พนักงานก็ต่างหนีเอาตัวรอด แต่ไม่สนใจลูกค้า

03

ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องฟัง !!

 ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐก็ควรมีกฎหมายออกมาบังคับจำนวนผู้เข้าใช้บริการในสถานบันเทิงให้แน่ชัดว่าขนาดกี่ตารางวาควรบรรจุคนได้กี่คน ขณะที่กฎหมายด้านการควบคุมอาคารก็ค้องเข้มงวด เพราะสถานบันเทิงบางแห่งมีลักษณะการออกแบบที่ซับซ้อน ไม่เหมาะแก่การหนีเมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็ควรเข้มงวดในการตรวจตราและดำเนินการเมื่อมีผู้กระทำผิดกฎหมาย

จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญส่งท้ายปีอย่าง ซานติก้าผับ ที่ถูกยกมาเป็นอุทาหรณ์ให้กับท่องราตรีทุกครั้งเมื่อใกล้เทศกาลปีใหม่ นักท่องเที่ยวควรตระหนักถึงความปลอดภัยของตนเองเป็นอย่างแรกมากกว่าความสนุกสนานจนไม่ได้สติ และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

ขณะที่ผู้ประกอบการสถานบันเทิงเองนั้นก็ควรจะพึงสำนึกถึงความปลอดภัยของผู้เข้าใช้บริการ ให้มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียตามมา

อุทาหรณ์ซานติก้าผับครั้งนี้ หวังจะให้เป็นครั้งสุดท้ายของโศกนาฏกรรมส่งท้ายปี และมันไม่ควรจะเกิดขึ้นซ้ำอีก!

 

ที่มา ‘ไทยรัฐออนไลน์’

 

เรื่องน่าสนใจ