นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ มีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่วัยทำงานที่จะดูแลมีน้อยลง ทั้งนี้ นโยบายหนึ่งที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความสำคัญคือ การดูแลผู้สูงอายุ การดำเนินงานในปี 2558 ของกรมฯ
จึงเน้นในเรื่องนี้ โดยใช้ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมาดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากการดูแลผู้สูงอายุที่เหมาะสมนั้นจะต้องเริ่มจากการใช้องค์ความรู้พื้นบ้านในการดูแลสุขภาพก่อน แล้วหากเจ็บป่วยมากกว่านั้นจึงค่อยนำส่งโรงพยาบาล โดยทีมผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) นั้น จะประกอบไปด้วย ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย ผู้สูงอายุที่สุขภาพแข็งแรง ญาติผู้ป่วย และอาสาสมัคร โดยมีแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลระบบการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager)
“ขณะนี้กรมฯ ได้จัดทำหลักสูตรในการอบรม Care Manager เป็นเวลา 18 ชั่วโมงให้แก่แพทย์แผนไทยทั่วประเทศแล้ว ซึ่งหลักสูตรมีการบูรณาการร่วมกับการอบรม Care Manager ของกรมอนามัย ทั้งนี้ กรมฯ ได้จัดประชุมอบรมรอบแรกผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ไปแล้ว โดยรอบที่ 2 จะจัดร่วมกับกรมอนามัย ซึ่งจะต้องอบรมให้สำเร็จมี Care Manager ใน 22 จังหวัดภายใน ธ.ค. 2557 นี้ และมี Care Manager ครบทั่วทั้งประเทศในเม.ย. 2558” อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าว
นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า สำหรับทีม Care Manager จะไปดำเนินการจัดอบรมให้ Care Giver อีกทอดหนึ่ง โดยเน้นเอาความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมาใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ
เช่น การใช้สมุนไพรดูแลการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุแทนยาแผนปัจจุบัน สอนเรื่องการใช้โยคะบำบัด และการยืดเหยียดในผู้สูงอายุเพื่อแก้อาการปวดเมื่อย สอนการสวดมนต์บำบัด และสมาธิบำบัด สอนญาติผู้ป่วยและอาสาสมัคร ในเรื่องของการนวดเพื่อลดความเจ็บปวด กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นอักเสบ
รวมไปถึงสอนการใช้ยาแผนไทยประจำบ้าน และเรื่องของอาหารโภชนาการตามธาตุเจ้าเรือนและฤดูกาล เพื่อให้มีภูมิต้านทานและมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น ทั้งร่างกาย จิตใจ และการป้องกันโรค
นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยติดเตียงนั้นก็จะเน้นในเรื่องของการทำกายภาพบำบัด การยืดเหยียด การฝึดการหายใจ รวมไปถึงการใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยในเรื่องของการประคบยา อย่างบางคนประสบปัญหาปวดเข่า มีปัญหาในการเดินก็สามารถใช้การประคบยาสมุนไพรที่เข่าช่วยได้
ซึ่งการดำเนินงานในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุนั้นจะช่วยให้ผู้ที่ประสบปัญหาป่วยติดเตียง เปลี่ยนมาเป็นผู้ติดบ้าน และผู้ที่ติดบ้านก็จะจะกลายเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ เป็นการติดสังคมแทน สำหรับคลินิกแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลนั้น จะเพิ่มจำนวนให้มีประมาณ 50% ของโรงพยาบาลทั้งหมดในปี 2558 และครบ 100% ในปี 2561
ที่มา ผู้จัดการ