นำเสนอข่าวโดย โดดเด่นดอทคอม
ภาพ โดดเด่นดอทคอม
การรับประทานยาสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงเป็นอย่างมากคือ การสังเกตว่ายาหมดอายุหรือยัง ยายังอยู่ในสภาพที่ดีหรือไม่ เพราะยาหมดอายุบางชนิดทำให้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร
จนอาจกลายเป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือแทนที่จะระงับโรค กลับทำให้โรคลุกลามภายในร่างกาย
ซึ่งตัวยาบางชนิดเมื่อเกิดการเสื่อมขึ้นแล้ว อาจก่อให้เกิดโทษ เป็นภัยแก่ร่างกายถึงกับทำให้ไตวายและไตอักเสบได้
ทั้งนี้ บรรดายาทั้งหลาย ส่วนมากแล้วจะระบุทั้งวันที่ผลิตและวันหมดอายุไว้บนฉลากหรือซองยาอย่างชัดเจน
เว็บไซต์โดดเด่นดอทคอม ( www.dodeden.com ) ระบุว่า เรามักจะสังเกตได้ว่า มีวันที่ผลิต ซึ่งจะเขียนว่า “Manu. Date” หรือ “Mfg. Date” ตามด้วยวัน-เดือน-ปีของวันที่ผลิตยา
ส่วนวันหมดอายุ จะเขียนว่า “Expiry Date” หรือ “Exp. Date” หรือ “Used before” หรือ “Expiring” หรือ “Use by”
ตามด้วยวัน-เดือน-ปีของวันที่ยาหมดอายุ ตัวอย่างเช่น Exp.date 30/07/11 หมายความว่า ยาจะหมดอายุในวันที่ 30 เดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2011
หากระบุไว้เพียงวันผลิต แต่ไม่ได้ระบุวันหมดอายุ โดยทั่วไปให้ถือว่า หากเป็นยานํ้าที่ยังไม่ได้เปิดใช้จะเก็บไว้ได้ 3 ปีนับจากวันผลิต หากเปิดใช้แล้วขึ้นอยู่กับว่า ดูแลการปนเปื้อนได้ดีหรือไม่
เช่น ยาแก้ไอ แต่ใช้ปากจิบจากขวดยา (ห้ามทำ เพราะจะไม่รู้ขนาดที่กินเข้าไปชัดเจน) จะปนเปื้อนและเสียได้ในเวลา 2-3 วัน
หากเทใส่ช้อนกิน ไม่ปนเปื้อน ปิดฝาอย่างดี เก็บไว้ในตู้เย็นสัก 3 เดือน แล้วกำจัดยาที่เสื่อมสภาพสักรอบก็จะดี ส่วนยาเม็ดเก็บไว้รักษาได้ 5 ปี นับจากวันที่ผลิต
คำถามคือ จะทราบได้อย่างไรว่า ยาเสื่อมสภาพแล้ว
ยาเม็ดแคปซูล แคปซูลมักบวมโป่ง สังเกตภายในพบว่าผงยาเปลี่ยนสี มีเชื้อราขึ้นที่เปลือกแคปซูลจับกันเป็นก้อน สีเปลี่ยนไป นั่นแสดงว่ายาหมดอายุแล้ว
ซึ่งต้องระวังให้มาก เพราะยาหมดอายุบางชนิด หากทานเข้าไปอาจเป็นอันตรายต่อไตได้ แต่ถ้าผงยาเปลี่ยนสีไปจากสีเหลืองเป็นสีนํ้าตาล ให้ทิ้งทันที
ยาเม็ด เมื่อหมดอายุมักมีสีเปลี่ยนไป ซีดจางลง แตกกร่อน เป็นผงง่าย เมื่อจับเม็ดยาแล้วรู้สึกเม็ดยานิ่ม ๆ บีบเบา ๆ ก็แตก
นอกจากนี้ ยาเม็ดที่เป็นแบบเคลือบนํ้าตาล วิธีการสังเกตว่าเสื่อมสภาพแล้วให้ดูที่เม็ดยาจะเยิ้มเหนียว มีกลิ่นหืน ๆ บูด ๆ
ยานํ้าแขวนตะกอน เช่น ยาคล้ายแป้งนํ้าใช้ทาแก้คัน ยาลดกรด ถ้าเสื่อมสภาพจะตกตะกอน จับกันเป็นก้อน เกาะติดกันแน่น เขย่าแล้วไม่กระจายตัว รวมทั้ง กลิ่น สี หรือรสก็เปลี่ยนไป
ยานํ้าเชื่อม ถ้าเสื่อมสภาพจะกลายเป็นสีขุ่น ๆ ตกตะกอน เห็นเป็นผง ๆ ไม่ละลาย หรือเห็นเป็นนํ้าคนละสีลอยปะปนเป็นเส้น ๆ อาจมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว
ยาขี้ผึ้งและครีม เนื้อยาจะแห้งแข็ง หรือสีเปลี่ยนไป ส่วนยาประเภทยาหยอดตา สามารถเก็บไว้ได้ในตู้เย็น 1 เดือน หากไม่ได้ใช้ก็ให้ทิ้งไป
ยาบางชนิดที่ต้องเก็บในตู้เย็นเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพ เช่น วัคซีน จำเป็นต้องเก็บรักษาในตู้เย็น กรณีพบเห็นคลินิกใดนำวัคซีนจากตู้ยามาฉีด โดยไม่ใช่ตู้เย็น ต้องทักท้วงทวงถามทันที
ยาเม็ดที่ใส่แผง (กระดาษฟอยล์) ซึ่งกันทั้งความชื้นและกันการเสื่อมสภาพเร็ว ควรจะแกะยาต่อเมื่อถึงเวลาต้องทานแล้วเท่านั้น หากแกะออกมารวม ๆ กันในขวดอาจเสื่อมสภาพหรือหมดอายุก่อนวันเวลากำหนดได้
ยาที่ได้จากโรงพยาบาลใส่ถุงซิปมาให้ ไม่มีวันหมดอายุ เพราะวันหมดอายุอยู่ที่กระป๋องยา ดังนั้น หากเป็นยาเม็ดที่เหลือค้างไว้ที่บ้าน อย่าเก็บไว้เกิน 1 ปี หากเป็นยานํ้าที่ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ สัก 3 เดือนก็เคลียร์สักครั้งจะดีกว่า
กรณีที่เผลอทานยาหมดอายุเข้าไป ไม่ควรล้วงคอ ไม่ต้องดื่มนม แต่อาจดื่มนํ้าตามไปก่อน และเก็บฉลากให้รู้ชนิดยาที่ทาน จำนวนที่ทาน สังเกตลักษณะที่ผิดปกติ
เช่น สี กลิ่น หรือ โทรฯ ถามศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้หมายเลข 0-2201-1083 ซึ่งเปิด 24 ชั่วโมง จะมีนักเภสัชวิทยาคอยให้คำแนะนำ บอกวิธีการปฐมพยาบาล และความจำเป็นในการรักษาที่โรงพยาบาล