กระแสแรงไม่ตกกับคู่กรณี “เสี่ยเจียง” และ “จา พนม” ที่งานนี้ทำให้ประชาชนทั้งหลายต่างสนใจในเรื่องของ “สัญญา” จนทำให้หนังที่นักแสดงบู้ฝีมือดีร่วมแสดงด้วย ถึงกับถูกระงับการฉายเลย
จากกรณีดารานักบู๊ชื่อก้องโลก กำลังมีปัญหากับบริษัทหนังยักษ์ใหญ่ ในเรื่องของการผิดสัญญาจ้าง จนทำให้หนังฟอร์มใหญ่ที่ดาราคนดังกล่าวร่วมแสดงไม่ได้เข้าโรงฉายในประเทศไทย จึงเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างครึกโครมในสังคมออนไลน์ ถึงความไม่เป็นธรรมของการต่อสัญญาอัตโนมัติ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงขออาสาไขข้อข้องใจเรื่องการต่อสัญญาจ้างอัตโนมัติ โดยกูรูนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญ จากสภาทนายความ
นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่า การต่อสัญญาอัตโนมัตินั้น ส่วนมากจะเขียนไว้ในสัญญาเฉยๆ แต่ในการที่จะทำการต่อสัญญากันจริงๆ เป็นเรื่องของการยินยอมทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ต่อสัญญาอัตโนมัติแล้วต่อได้เลย จะต้องมาทำเงื่อนไขของสัญญาก่อน แต่ในการเซ็นสัญญาครั้งแรกต้องดูหนังสือสัญญาก่อนว่าระบุเงื่อนไขให้ต่อ สัญญาได้ในกรณีใดบ้าง ต่อแบบไหน การต่อมีผลอย่างไร
ทั้งนี้ หากพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนั้น จะต้องดูสัญญาข้อที่ว่า ‘ในการต่อสัญญาหรือจะไม่ต่อสัญญา อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์ที่จะบอกเลิกได้ภายในกี่เดือน’ หรือกรณีที่บริษัทยื่นเงื่อนไขในการต่อสัญญาไปให้ ดาราจะต้องโต้แย้งตั้งแต่ที่บริษัทยื่นสัญญาไปให้ว่าไม่ต้องการต่อสัญญาแบบนี้ ต้องการเปลี่ยนแปลงสัญญา แต่หากในสัญญาไม่มีเงื่อนไขข้อนี้ ก็จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น แต่ถ้าในสัญญามีเงื่อนไขข้อนี้อยู่ ทางดารานักบู๊ไม่บอกเลิกสัญญาเอง การจะไปโทษบริษัทคงจะไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การส่งใบแจ้งต่อสัญญาไปที่บ้านและมีคนที่บ้านเซ็นรับเอกสารถือเป็นการต่อ สัญญาอัตโนมัติหรือไม่ ทั้งที่ตัวดารานักบู๊อยู่คนละบ้านและไม่ได้เห็นหนังสือแจ้งขอต่อสัญญา เลขาธิการสภาทนายความ ตอบว่า ถ้าตามสัญญานั้น ถือเป็นการต่อสัญญาอัตโนมัติ ส่วนดารานักบู๊จะไปต่อสู้ในชั้นศาลว่าไม่ได้รับหนังสือต่อสัญญา ตรงนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
ภาพจากเฟสบุ๊ค : Tanapol Jurawanitchakul
นายนิวัติ กล่าวต่อว่า หลักทั่วไปคำว่า ‘แจ้ง’ ต้องดูตามเจตนารมณ์ ถ้าตีความตามกฎหมาย หากแจ้งไปแล้วถ้าให้สัญญาต่อเนื่องเลยโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีสิทธิ์คัดค้าน ภาษากฎหมาย ใช้คำว่า ‘เสนอ’ พอเสนอไปแล้ว อีกฝ่ายนิ่งหรือไม่โต้แย้งหรือไม่คัดค้านก็ถือว่าสมบูรณ์
แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไปดูสัญญาว่าการส่งหนังสือแจ้งต่อสัญญานั้น ในเงื่อนไขแล้วจะต้องส่งอย่างไร หากเป็นสัญญาจ้างทั่วไป จะมีการบอกในสัญญาว่า การส่งหนังสือ ถ้าส่งไปยังภูมิลำเนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วถือว่าได้รับ มีฉบับที่เขียนไว้แบบนี้หรือไม่ ถ้าไม่มีหรือภายหลังเป็นการพิสูจน์ว่าบุคคลที่รับแทนไม่ได้แกล้ง ติดต่อกันไม่ได้ หรือไม่ได้กลับบ้านนานแล้ว อย่างนี้ก็ถือว่าดารานักบู๊ยังไม่ได้รับใบแจ้งต่อสัญญา
“เท่าที่ดูเรื่องสัญญา เหมือนกับวงดนตรีลูกทุ่งสมัยเก่า คล้ายๆ กับที่เรียกกันว่า ‘สัญญาทาส’ ฝ่ายวงดนตรีไม่มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงสัญญา แต่หากมีสัญญาไม่เป็นธรรม ถ้าตัวดาราเองจะยกขึ้นต่อสู้ก่อนคิดว่าน่าจะทำได้ แต่ผมก็ไม่ทราบข้อเท็จจริงลึกๆ” เลขาธิการสภาทนายความ กล่าว
นอกจากนี้ นายนิวัติ อธิบายถึงการรับเอกสารสัญญาในทางกฎหมายว่า การ ‘รับ’ ตามกฎหมาย คือ รับ และทราบ ถ้าไปส่งให้เจ้าตัวจริง และมีการรับไว้จริง แต่ไม่เปิดอ่านเองถือว่าฟ้องร้องไม่ได้ ซึ่งมีหลายครั้งที่ศาลพิจารณาคดีใหม่ ด้วยเหตุที่ว่าติดหมายแล้วแต่จำเลยไม่ได้อยู่ที่บ้าน หรือมีคนรับแล้วแต่ไม่ได้แจ้งจำเลย เมื่อพิสูจน์กันถึงที่สุดแล้วจำเลยไม่ได้รับหมายศาลจริงๆ ศาลก็ไปพิจารณาคดีใหม่ได้ ทำนองเดียวกัน หากจะไปสู้กันในศาล ดารานักบู๊จะต้องไปสู้เรื่องการได้รับใบแจ้งต่อสัญญา ซึ่งโดยเจตนารมณ์ของกฎหมายจะต้องได้รับจริงๆ ส่วนเรื่องไปส่งถึงบ้านและมีคนในบ้านรับเอกสารไปจริงนั้น ถือเป็นข้อสันนิษฐานว่าเจ้าตัวได้รับแล้ว
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากดาราไม่ได้รู้เรื่องการต่อสัญญา จะมีผลทำให้เกิดการต่อสัญญาอัตโนมัติหรือไม่ นายนิวัติ ตอบว่า มี 2 ประเด็น คือ ถ้าไม่ได้โต้แย้งภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือไม่ได้แสดงสิทธิ์ของตัวเอง การต่อสัญญาก็จะเป็นไปตามนั้น แต่ถ้าต่อมาดารานักบู๊บอกว่าไม่เคยได้รับเอกสารนี้ ก็ต้องไปว่ากันในชั้นศาล ว่าการส่งเอกสารนั้นส่งโดยชอบธรรมหรือไม่ ถ้าส่งโดยชอบสัญญาก็เดินต่อ แต่ถ้าส่งโดยไม่ชอบธรรมก็มาเริ่มต้นกันใหม่
สำหรับคำแนะนำกรณีที่เห็นว่าสัญญาจ้างไม่เป็นธรรม สามารถฟ้องยกเลิกสัญญาได้หรือไม่นั้น เลขาธิการสภาทนายความ ระบุว่า ต้องไปดูเจตนารมณ์ของสัญญา ไม่สามารถตอบได้ว่าฟ้องเลิกสัญญาได้หรือไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเซ็นสัญญา จะต้องดูหนังสือสัญญาแต่ละข้อว่า ขัดกับหลักกฎหมายไหม ไม่เป็นธรรมหรือเปล่า ต้องดูกันเป็นข้อๆ เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง และไม่ตกเป็นเหยื่อของสัญญาทาสด้วย
“จากกรณีข่าวดังกล่าว จะต้องพิจารณาก่อนว่า ดารานักบู๊ ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ และเป็นคนยากจนหรือเปล่า ถ้าเขายากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม ทางสภาทนายความก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้” เลขาธิการสภาทนายความ ระบุ.