เตือนภัยถูกแอบฉีดฟิลเลอร์ – คลินิกหน้าเด้งหนุนตรวจสอบโฆษณาเกินจริง

dr.raveewat

คลินิกหน้าเด้งหนุนแพทยสภาตั้ง คกก.ตรวจสอบโฆษณาเกินจริง แนะหาหลักเกณฑ์กลางที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย ขอมีคำเชิญชวนบ้าง ไม่บีบคั้นเกินไป ชี้เป็นเหตุให้เอกชนเลือกทำผิดกฎหมาย พร้อมเตือนระวังถูกแอบฉีดฟิลเลอร์แบบไม่รู้ตัว ยกเคสนางแบบแต่งหน้าเจ้าสาวหลับระหว่างแต่งหน้า สุดช็อก! เจอเมกอัพอาร์ติสท์ทายาชาพ่วงฉีดฟิลเลอร์ให้แบบถาวร หวังหน้ายาวเอื้อชนะประกวด ด้านแพทยสภาเตรียมหารือคุมคลินิกความงาม มิ.ย.นี้

นพ.ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ศัลยแพทย์คลินิกเอกชนแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า สาเหตุที่คนหันมาฉีดสารเติมเต็ม หรือฟิลเลอร์ เพื่อเสริมความงามมากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคิดว่าไม่น่าจะมีอันตรายใดๆ เหมือนกับการฉีดยาที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ได้ทำยากเหมือนการศัลยกรรม ทั้งที่ในความเป็นจริงการฉีดสารต่างๆ เข้าสู่ร่างกายอันตรายกว่า สังเกตได้จากการที่มีคนไปแอบฉีดฟิลเลอร์แล้วเสียชีวิตมากขึ้น ต่างจากการทำศัลยกรรมที่เป็นเพียงการผ่าตัดเล็ก เกิดอันตรายน้อยกว่า เมื่อมีปัญหาก็สามารถเอาออกได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การฉีดฟิลเลอร์ทุกวันนี้คนจบแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีด ส่วนคนฉีดไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นพวกหมอกระเป๋า หรือพริตตี้ที่ฉีดกันเองก็มี โดยอาศัยความใจกล้า ไม่กลัวเข็ม เนื่องจากแพทย์จะได้รับการสอนในเรื่องของจรรยาบรรณ ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ค่อนข้างกลัว ไม่ค่อยกล้าฉีดให้กับคนไข้ เชื่อว่ามีแพทย์ทำการฉีดเสริมความงามเพียงไม่ถึง 1% เท่านั้น

“การฉีดฟิลเลอร์ทุกวันนี้น่ากลัวขึ้น เรื่อยๆ ถึงขั้นมีการแอบฉีดให้กับคนที่ไม่ต้องการฉีดด้วยซ้ำ อย่างที่ผ่านมาเคยเจอเคสคนไข้ถูกฉีดฟิลเลอร์แบบถาวรที่บริเวณคาง เนื่องจากไปเป็นนางแบบประกวดแต่งหน้าเจ้าสาว ซึ่งใช้เวลานานในการแต่งหน้า ทำให้เผลอเคลิ้มหลับไป ปรากฏว่าถูกแอบทายาชาแล้วฉีดฟิลเลอร์เข้าไป เนื่องจากคนแต่งหน้ากลัวแพ้ เลยฉีดคางเพื่อให้หน้าดูยาวขึ้น เรื่องนี้ฟังแล้วอาจดูเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นอุทาหรณ์สอนใจว่าควรจะต้องระวังตัว เพราะคนที่ไม่ได้อยากฉีดยังถูกแอบฉีด ที่สำคัญยังเป็นการฉีดสารแบบถาวร ซึ่งแก้ไขอย่างไรก็ไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิม 100%” นพ.ระวีวัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่แพทยสภาเตรียมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการโฆษณาของ คลินิกเสริมความงาม และคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการให้ความคิดเห็นทางวิชาการ เพื่อควบคุมการโฆษณาเกินจริงของคลินิกเอกชน  นพ.ระวีวัฒน์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยอย่างมากกับแนวทางดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าแพทยสภาเห็นถึงจุดด้อย เห็นความโบราณบ้างแล้ว ซึ่งทุกวันนี้เทรนด์เปลี่ยนไปมาก แพทยสภาต้องอัปเดตให้ทัน ข่าวนี้ถือเป็นข่าวดีของวงการ ที่สำคัญได้ยินว่าจะมีการเชิญตัวแทนคลินิกเสริมความงามต่างๆ มาร่วมหารือด้วย ถือเป็นเวทีที่ดีในการมาถกความเหมาะสมในการโฆษณาของคลินิกเสริมความงามอย่าง ไรไม่ให้เกินจริง ซึ่งแนวทางในการโฆษณานั้นตนเห็นว่า ภาครัฐไม่ควรที่จะบีบคั้นเกินไป มีข้อจำกัดที่ยืดหยุ่นเพื่อป้องกันคลินิกเอกชนมาเล่นช่องทางใต้ดิน เพราะเอกชนก็ไม่มีใครที่อยากจะทำผิดกฎหมาย ที่สำคัญในกลุ่มคลินิกเสริมความงามเองต้องช่วยกันควบคุมไม่ให้มีการโฆษณา เกินจริง สมเหตุสมผล วงการศัลยกรรมเสริมความงามก็จะอยู่ได้นาน สำหรับเรื่องการกำหนดราคาค่าใช้จ่ายของคลินิกแต่ละแห่ง อย่าลืมว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การจำหน่ายสินค้า แต่เป็นการบริการทางการแพทย์ ซึ่งจะมีค่าต้นทุนที่แตกต่างกันไป

“ยอมรับว่าคลินิกเอกชนบางแห่งก็โฆษณาเกินจริง อย่างพวกขาวได้ในกี่วันๆ ยกกระชับหน้าทันทีหลังทำ คือโฆษณาเกินจริงแน่นอน การหาแนวทางที่ยอมรับได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ควรที่จะใช้วิจารณญาณแบบกลางๆ มาตัดสินว่า โฆษณาควรเชิญชวนได้ถึงระดับไหนที่จะไม่เป็นการโฆษณาเกินจริง เพราะถ้าไม่มีคำเชิญชวนเลยเป็นไปไม่ได้ เป็นการบีบคั้นกันเกินไป เอกชนก็จะคิดว่าอย่างไรก็ผิดอยู่แล้ว เสียเพียง 2 หมื่นบาท ก็ผิดให้เต็มที่ไปเลย หากเป็นแบบนี้ก็ไม่มีประโยชน์ในการแก้ปัญหา” นพ.ระวีวัฒน์ กล่าว

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ปัจจุบันคลินิกเสริมความงามบางแห่งมีการนำเทคโนโลยี มาดึงดูดผู้บริโภคว่าสามารถทำให้หน้าเต่งตึง ชะลอวัย ซึ่งมักมีการโฆษณาเกินจริงและค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาจึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีชื่อว่า คณะอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนด้านเสริมความงามจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การเสริมสวยและการโฆษณา ซึ่งมีตนเป็นประธาน โดย ขณะนี้อยู่ระหว่างลิสต์รายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ จากนั้นจะเสนอให้นายกแพทยสภาลงนามรับทราบ คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมประชุมนัดแรกปลายเดือน มิ.ย.นี้ โดยจะทำหน้าที่ตรวจสอบว่าการเสริมความงามและศัลยกรรม เป็นการดำเนินการถูกต้องโดยแพทย์จริงหรือไม่ ศัลยกรรมประเภทใดที่ไม่สมควรทำในตอนนี้เพราะยังขาดข้อมูลทางวิชาการ ก็จะมีการเตือนประชาชนถึงโอกาสเสี่ยง นอกจากนี้ จะมีการส่งเสริมด้วยเพราะไทยมีความสามารถด้านนี้ แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี โดยจะทำให้ไทยกลายเป็นเมืองหลวงแห่งความงาม

นพ.สัมพันธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการคุมราคาค่าใช้จ่ายค่อนข้างยาก เพราะเหมือนโรงพยาบาลเอกชนซึ่งราคาก็แตกต่างกันไป แต่คณะอนุกรรมการอาจมีการพิจารณาและประกาศเป็นราคาทั่วไปของการบริการแต่ละ ประเภทแทน ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการ โดยออกเป็นประกาศแพทยสภา ซึ่งสามารถดำเนินการเอาผิดแพทย์ที่ทำผิดกฎได้ ส่วนเรื่องของสถานพยาบาลจะเป็นหน้าที่ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ส่วนวัสดุ เครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ จะเป็นหน้าที่ของ อย.

 

เนื้อหาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

เรื่องน่าสนใจ