การทำบุญหรือการช่วยเหลือมูลนิธิต่างๆ นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว ยังทำให้เรารู้สึกสบายใจอีกด้วย แต่เราเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า เงินที่บริจาคไปนั้นเป็นประโยชน์ต่อคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงหรือไม่ เราจะไปดูสัญญาณบ่งบอกว่า เราจะเป็นคนใจบุญแบบโง่ๆหรือไม่
การบริจาคเงิน หรือการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในมูลนิธิหรือองค์การต่างๆ เป็นวิธียอดนิยมที่คนสมัยนี้จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ”การทำดี” เพื่อช่วยยุติความยากจน เพื่อเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษา เพื่อลดโลกร้อน หรือเพื่อสันติภาพ
กลุ่มคนรุ่นใหม่ในแวนคูเวอร์ของแคนาดาออกแคมเปญรณรงค์ให้มีการยุติงาน อาสาที่ไร้ความรับผิดชอบ ตั้งบัญชีทวิตเตอร์ พร้อมติดแฮชแท็ก #EndHumanitarianDouchery ที่แปลว่า เลิกใจบุญแบบโง่ๆ โดยมีการปล่อยคลิปวิดิโอขึ้นมาแสดงตัวอย่างของคนใจบุญแบบโง่ๆ
แคมเปญนี้ได้อธิบายลักษณะของคนใจบุญแบบโง่ๆไว้ 7 ข้อ คือ
1. ไม่ศึกษาประวัติองค์กรที่ตัวเองต้องการจะเข้าร่วม ทำให้เงินสนับสนุนที่บริจาคไป ตกไปอยู่กับองค์กรที่ละเมิดสิทธิผู้อื่น หรือไม่สามารถตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้จริงๆ รวมถึงไม่ได้ตรวจสอบว่าโครงการอาสานั้นเป็นการแย่งงานคนท้องถิ่นหรือไม่
2. มีความภาคภูมิใจในจิตสาธารณะของตัวเองเสียจนไม่สนใจว่าตัวเองจะมีคุณสมบัติ เพียงพอที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนั้นหรือไม่ เช่น คนที่ภาษาอังกฤษอาจไม่ดีพอ แต่ไปเข้าร่วมโครงการสอนภาษาให้กับเด็กด้อยโอกาส
3. คิดว่าโครงการอาสาเป็นเหมือนการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ดังนั้น จึงจะโฟกัสแต่การถ่ายรูปสวย ไปเที่ยวกลางคืนในพื้นที่นั้นๆ แทนที่จะให้ความสำคัญกับประสบการณ์การเรียนรู้ที่จะได้รับจากกิจกรรมนั้นๆ
4. คิดแต่จะตักตวงผลประโยชน์การกิจกรรมอาสา
5. ให้สำคัญกับตัวเองมากเกินไป คิดแต่เพียงว่ากิจกรรมนี้จะทำให้ตัวเองดูดีในสายตาสังคม แต่ไม่ได้สนใจว่า คนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมนี้มากน้อยขนาดไหน
6. เรียกร้องความสนใจจากโลกโซเชียลมากเกินไป การลงภาพหรือเล่าเรื่องราวลงโลกโซเชียลว่าตัวเองเป็นเหมือนฮีโร่ผู้โอบอุ้ม มนุษยชาติไว้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ว่านักอาสาสูงส่งกว่าคนในชุมชนนั้นๆ
7. พูดโอ้อวดตัวเอง และดูถูกว่าตัวเองเป็นคนดีกว่าคนที่ไม่เคยทำกิจกรรมอาสา
เจ้าของแคมเปญอธิบายว่า คนใจบุญแบบโง่ๆนี้ มักจะเป็นคนวัย 20 ต้นๆ หรือคนที่เรียนปริญญาโทและไม่เคยทำงานมาก่อน ทำให้มองเห็นโลกในอุดมคติของตัวเองมากเกินไป พร้อมทั้งยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้มองว่าการมีจิตอาสาเป็นเรื่องเลวร้าย แต่การทำดีแบบฉาบฉวยเหล่านี้กลับทำให้ปัญหาที่มีอยู่ยิ่งซับซ้อนและย่ำแย่ลง กว่าเดิม