ที่มา: dodeden

นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ถึงความคืบหน้าในการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพว่า ขณะนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2559  เป็นต้นมา

ทั้งนี้ เจตนารมณ์กฎหมายฉบับนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัยของระบบบริการสุขภาพครอบคลุมสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน  และเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนในระบบสุขภาพทั้งภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมเป็น “คณะกรรมการสถานพยาบาล” โดยเพิ่มอธิบดีทุกกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

และมีผู้ทรงคุณวุฒิ จากสภาวิชาชีพแต่ละสาขา ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้แทนจากองค์กรเอกชนที่ดำเนินกิจกรรมทางด้านคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพการบริการของสถานพยาบาลในประเทศไทย

นายแพทย์วิศิษฎ์  กล่าวว่า ตามกฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะกำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องแสดงชื่อ รายการผู้ประกอบวิชาชีพ อัตราค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าบริการอื่นแล้ว ยังต้องแสดงค่ายา-เวชภัณฑ์ และห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินอัตราที่แสดง

รวมทั้งมีการเพิ่มหลักเกณฑ์การดำเนินการของสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน รวมทั้งโรคติดต่ออันตราย โรคที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และไม่แพร่กระจายเชื้อส่งผลต่อประสิทธิภาพระบบการควบคุมโรคของประเทศ โดยกรม สบส. ได้แจ้งเวียนให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน

ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ยังได้ปรับปรุงเงื่อนไขการอนุญาตการโฆษณาสถานพยาบาลให้รัดกุมขึ้น โดยกำหนดให้การโฆษณาทุกชนิด

ในเขตกรุงเทพมหานคร จะต้องขออนุญาตจากกรม สบส. และในส่วนภูมิภาค ให้ขออนุญาตที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และได้เพิ่มโทษการโฆษณาโอ้อวดให้หนักขึ้นจากเดิมซึ่งมีแค่โทษปรับอย่างเดียว แต่กฎหมายฉบับนี้เพิ่มโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา

กรณีที่ลักลอบโฆษณา มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา กรณีโฆษณาที่มีการเผยแพร่ก่อนกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ดำเนินการขออนุญาตกับกรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ภายใน 90 วัน หลังจากประกาศที่ออกตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ และเมื่อยื่นขออนุญาตแล้วอนุโลมให้โฆษณาต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งผลการพิจารณา

สำหรับบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน  ได้เพิ่มโทษหนักขึ้นกว่าเดิม เพื่อป้องปรามการกระทำผิด เช่น การลักลอบเปิดสถานพยาบาลโดยมิได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกจากเดิมไม่เกิน 3 ปี เพิ่มเป็น 5 ปี หรือปรับเพิ่มจากเดิมไม่เกิน 6 หมื่นบาท เป็น 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีการเก็บค่ารักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์เกินกว่าที่แสดงไว้ที่ป้าย ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมมีโทษปรับอย่างเดียวไม่เกิน 2 หมื่นบาท

นอกจากนี้ กฎหมายยังครอบคลุมโทษถึงผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบการดำเนินงานของนิติบุคคล จนเป็นเหตุให้เกิดการกระทำผิด จะต้องร่วมรับผิดชอบในความผิดนั้นด้วย

เรื่องน่าสนใจ