นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ว่า กรม สบส.ได้ปรับบทบาทภารกิจของกรมในการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบบริการสุขภาพตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสสังคมซึ่งเรียกร้องเรื่องมาตรฐานสถานพยาบาลของภาครัฐและเอกชนให้มีความใกล้เคียงกันและสอดคล้องยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่สามารถใช้บริการด้านสุขภาพสร้างเศรษฐกิจรายได้เข้าประเทศด้วย
ซึ่งตามกฎหมายสถานพยาบาลที่อยู่ในกำกับดูแลของกรม สบส. คือ พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2559 เป็นต้นมานั้น มีผลบังคับใช้กับสถานพยาบาลเอกชนและยังเพิ่มบทบัญญัติให้สถานพยาบาลทุกแห่ง
ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลนิธิ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภากาชาดไทย ซึ่งโรงพยาบาลที่กล่าวมาไม่ต้องขออนุญาตเปิดโรงพยาบาลตามกฎหมาย แต่จะต้องได้เกณฑ์มาตรฐานตามประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสถานพยาบาลด้วย ซึ่งจะส่งผลให้สถานพยาบาลทุกแห่งของไทยมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งกรม สบส.ได้จัดประชุมชี้แจงโรงพยาบาลทั่วประเทศไปแล้ว
“กรม สบส.จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคทั้งไทยและต่างชาติ ทำการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานบริการของโรงพยาบาลทุกแห่งทุกสังกัดทั่วประเทศ และเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจของผู้ใช้บริการทุกระดับ โดยโรงพยาบาลภาครัฐทั้งหมด รัฐวิสาหกิจ สภากาชาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกว่า 1,000 แห่ง จะส่งเสริมให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนไทยเป็นหลัก ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่มี 345 แห่ง จะส่งเสริมสนับสนุนจุดแข็งให้เป็นธุรกิจบริการสุขภาพชาวต่างชาติผูกติดกับการท่องเที่ยว เช่น บริการตรวจสุขภาพ การรักษาพยาบาล สร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น” นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าว
สำหรับมาตรฐานของสถานพยาบาลที่กรม สบส.จะให้การรับรองส่งเสริมมี 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ด้านเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการตรวจวินิจฉัยและใช้รักษาอาการเจ็บป่วย รักษาชีวิตในภาวะวิกฤติฉุกเฉิน เช่นเครื่องช่วยหายใจ เครื่องกระตุ้นหัวใจ เป็นต้น จะต้องมีระบบตรวจสอบประสิทธิภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรม สบส.ได้มอบหมายให้กองวิศวกรรมการแพทย์ดูแลมาตรฐานนี้
2 มาตรฐานอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาล เช่น ห้องแยกโรคดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้ออันตราย ห้องเอ็กซเรย์ซึ่งต้องมีการออกแบบพิเศษ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ผู้ปฏิบัติงาน อยู่ในความดูแลของกองแบบแผน
และ 3.มาตรฐานด้านสุขศึกษา มอบให้กองสุขศึกษาดูแล เพื่อรับรองระบบการให้ความรู้เรื่องโรคให้ผู้ป่วยและญาติ มีความเข้าใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สามารถดูแลสุขภาพตัวเองหลังจากหายป่วยได้อย่างถูกต้อง ไม่เกิดปัญหาแทรกซ้อน หรือไม่ป่วยซ้ำอีก
โดยมาตรฐานทั้ง 3 เรื่องนี้ ได้ร่วมมือบูรณาการกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลหรือสรพ.ซึ่งส่งเสริมคุณภาพความปลอดภัยบริการ การลดความเสี่ยงอันตรายแก่ผู้ป่วย ส่งเสริมพัฒนาโรงพยาบาลทุกแห่งทุกสังกัด ให้ผ่านมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น เอชเอ (HA) หรือเจซีไอ (JCI)
ภาพ รพ.วิภาวดี