กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แจ้งเวียนแนวทางการดำเนินการ 5 ข้อ ถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมดึงพลังอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว เป็นตาสัปปะรด เฝ้าระวัง ป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทั่วโลก ยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็วประกอบกับปัจจุบันสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีช่องทางผ่านแดนติดต่อกับประเทศไทย ทั้งด่าน จุดผ่านแดน จุดผ่อนปรนและช่องทางธรรมชาติ ก็ยังพบการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจะป้องกันมิให้เชื้อโรคโควิด-19 หลุดรอดเข้ามาภายในประเทศไทยได้นั้น ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพฤติกรรมในการป้องกันโรคโควิด-19 รวมทั้งช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังบุคคลข้ามแดนทั้งถูกกฎหมายหรือลักลอบข้ามแดน โดยภาครัฐก็มีฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ดำเนินการ และในส่วนภาคประชานนอกจากชาวบ้านแล้วก็ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว (อสต.) เข้ามาร่วมเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับวิกฤติการณ์ครั้งนี้
นายแพทย์ธเรศฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกรม สบส.นั้นก็ได้ให้ความสำคัญกับการรองรับการแพร่ระบาด ลดความเสี่ยง และควบคุมมิให้เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่เป็นอย่างมาก จึงได้มีการขอความร่วมมือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมประสานขอความร่วมมือให้ อสม.และ อสต.ทุกพื้นที่ ทุกชุมชนดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด-19 ตามแนวทางการดำเนินการ 5 ข้อ ดังนี้ 1.ให้ อสม.และ อสต.ดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเป็นตาสัปปะรด สอดส่อง ดูแล อย่างเข้มข้นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน อาทิ ด่านชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก ด้วยการค้นหา คัดกรองกลุ่มเสี่ยงแรงงานต่างด้าว เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการหวัด ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ รับกลิ่น/รสลดลง ร่วมกับร้านขายยาในชุมชน 2.ให้ อสม.และ อสต.ปฏิบัติตนเป็นต้นแบบในการป้องกันโรคโควิด-19 โดยสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง 3.ให้ อสม.และ อสต.สำรวจพฤติกรรมและให้คำแนะนำ กระตุ้น ประชาชนให้มีพฤติกรรมในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่เหมาะสม 4.ให้ อสม.และ อสต.สำรวจความเครียด ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และร่วมดูแลสุขภาพจิต คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจชุมชน ตลอดจนร่วมพัฒนาศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) และร่วมสร้างตำบลวิถีชีวิตใหม่ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 5.มีการรายงานผลการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด-19 ในชุมชน เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งหากทุกฝ่ายมีการปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินการป้องกันโรคอย่างเข้มแข็ง ไม่ย่อหย่อนปล่อยให้การ์ดตกแล้วย่อมลดความเสี่ยงจากโรค และป้องกัน ควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ได้
“การควบคุมและป้องกันโรคในแนวชายแดนครั้งนี้เป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง ถ้าเราเอาอยู่จะแสดงให้เห็นว่าระบบควบคุมป้องกันโรคของประเทศไทยเข้มแข็ง จากระบบการเฝ้าระวังคนข้ามแดนทั้งถูกกฎหมายและลักลอบ โดยฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร และความร่วมมือ จากชาวบ้าน อสม. อสต. ที่เข้มแข็ง” นายแพทย์ธเรศฯ กล่าว