กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส ) ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคลินิกย่านพหลโยธิน หลังผู้เสียหายจากการทำปากกระจับอ้างว่าคลินิกดังกล่าวมีการใช้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาร่วมทำการผ่าตัดและเย็บแผลจนริมฝีปากมีขนาดไม่เท่ากัน
จากกรณี ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลถึงหญิงสาวรายหนึ่ง ซึ่งเข้ารับการศัลยกรรมปากทรงกระจับกับคลินิกแห่งหนึ่งย่านพหลโยธิน แต่ปรากฏว่าภายหลังการผ่าตัดริมฝีปากทั้ง 2 ด้านมีขนาดไม่เท่ากัน โดยหญิงสาวอ้างว่าคลินิกมีการนำผู้ช่วยพยาบาลหรือพยาบาลมาทำการผ่าตัดและเย็บแผลให้ร่วมกับแพทย์ และมีผู้เสียหายในลักษณะเดียวกันอีกหลายรายนั้น
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
วันนี้ (7 มีนาคม 2561) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า แม้ขณะนี้ กรม สบส.ยังมิได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหาย แต่ก็มิได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยจะมุ่งตรวจสอบในประเด็นที่มีการกล่าวอ้างว่าสถานพยาบาลมีการนำบุคคลมิใช่แพทย์มาร่วมทำการผ่าตัดปากทรงกระจับและเย็บแผลให้แก่ผู้รับบริการ หากพบว่าสถานพยาบาลดังกล่าวมีการใช้ผู้ที่มิใช่แพทย์ มาให้บริการศัลยกรรมจริงก็จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย 2 ฉบับ โดยผู้ให้บริการที่มิใช่แพทย์ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต (หมอเถื่อน) ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ดำเนินการจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานปล่อยให้บุคคลอื่นที่มิใช่แพทย์ทำการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสถานพยาบาล ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในส่วนของแพทย์จะส่งเรื่องให้สภาวิชาชีพพิจารณาดำเนินการต่อไป
ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า การเสริมความงามเป็นสิทธิส่วนบุคคล การเสริมความงาม ทั้งการฉีดสารเสริมความงามต่างๆ หรือการผ่าตัดย่อมมีความเสี่ยงเฉพาะตัว ดังนั้นจึงต้องศึกษาข้อมูล และผลกระทบก่อนตัดสินใจเลือกรับบริการทุกครั้ง โดยเฉพาะการศัลยกรรมจะต้องกระทำโดยแพทย์เท่านั้น หากเป็นบุคคลอื่นที่มิใช่แพทย์ย่อมเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกาย จนถึงเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ กรม สบส.ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนร่วมเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในด้านระบบบริการสุขภาพ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำผิด อาทิ คลินิกเถื่อน หมอเถื่อน หรือหมอกระเป๋าอย่างนิ่งดูดาย ให้แจ้งที่กรม สบส.ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18822 และ 18618 หรือทางเฟซบุ๊ก : สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์, มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน และศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส. กระทรวงสาธารณสุข ในวันและเวลาราชการ แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อร่วมคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการในด้านการแพทย์ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย