ที่มา: dodeden

นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ชัยวัฒน์ ทองไหม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ และนายวัฒนศักดิ์ จันทร์แปลง สาธารณสุขอำเภอเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ นำสื่อมวลชนและคณะเจ้าหน้าที่กรม สบส. ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไข้เลือดออกของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.ที่ ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนชาวเขาเผ่าม้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จนได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงของเผ่าม้ง

นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวว่า ตำบลเข็กน้อย มี 12 หมู่บ้าน เป็นชุมชนชาวเขาเผ่าม้งที่อยู่ในพื้นที่ป่าเขามีประชากร 14,830 คน ทำให้มีปัญหาการระบาดของไข้เลือดออก ในปี 2554 มีผู้ป่วย 5 ราย  โดยเฉพาะในปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดมากทั่วประเทศ ที่ตำบลนี้พบผู้ป่วย 491 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน พบมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม –กรกฎาคม มีจำนวน 446 ราย คิดเป็นร้อยละ 91 ของผู้ป่วยทั้งปี

ในการป้องกัน แก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในชุมชน มีการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเข็กน้อย และอสม.ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าม้ง จำนวน 121 คน เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน โดยใช้มาตรการ 3 เก็บ คือเก็บบ้าน  เก็บขยะ เก็บน้ำ ป้องกันการเกิดยุงลายตัวการก่อโรค  ขยายผลสู่นักเรียนให้เป็นแกนนำจัดการยุงในบ้าน เพื่อให้ชุมชนปลอดโรค  สำรวจและทำลายลูกน้ำยุงลายในบ้านทุกหลังคาเรือนทุกสัปดาห์  รณรงค์ทำความสะอาดชุมชนครั้งใหญ่ (Big cleaning day) ทุก 3 เดือน แต่หากอยู่ในช่วงระบาด คือ เมษายน-มิถุนายน จะรณรงค์ทำความสะอาดทุกเดือน

กรณีที่พบมีผู้ป่วยในชุมชนอสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมงและป้องกันผู้ป่วยรายใหม่ในรัศมี 100 เมตรรอบบ้านผู้ป่วย

นอกจากนี้ อสม.ยังได้ทำโลชั่นตะไคร้หอม และสเปรย์ป้องกันยุง ให้ชุมชนใช้ป้องกันยุงลายกัด  ให้ความรู้การป้องกันโรค และสัญญานอาการป่วยโรคไข้เลือดออกเพื่อพบแพทย์รักษาได้เร็ว   ผ่านหอกระจายข่าว  วิทยุชุมชน  เพื่อลดความรุนแรงการระบาดให้ได้มากที่สุด  ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้เป็นศูนย์ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี    นับว่าเป็นความสำเร็จระดับชุมชนในการจัดการปัญหาที่คุกคามสุขภาพประชาชนได้อย่างดี 

นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวต่อไปว่า  ในส่วนของกรมสบส. ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาอสม.สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสุขภาพดี  มีนโยบายพัฒนา อสม.ให้เป็นนักจัดการสุขภาพภาคประชาชน ให้มีศักยภาพเป็นมือปราบโรคและปัญหาสุขภาพที่มีในพื้นที่ ร่วมมือใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  มีอสม.ผ่านการอบรมไปแล้ว 250,000 คน ในปี 2560 นี้ ตั้งเป้าพัฒนาเพิ่มอีก 72,550 คน  และฟื้นฟูความรู้การป้องกันโรคที่เกิดจากยุงลายซึ่งมี 3 โรค

ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคไข้ซิกา โดยปี 2560 นี้ กรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกประมาณ 80,000 – 100,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ประมาณ 22-37 เปอร์เซ็นต์ มีพื้นที่เสี่ยงระดับอำเภอทั้งสิ้น 206 อำเภอ  ใน 61 จังหวัด  ซึ่งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่เสี่ยง 2 อำเภอคือ อ.เขาค้อ และอ.เมือง  ซึ่งกรมสบส.ได้ขอให้อสม.เร่งกำจัดยุงลายในช่วงเดือนมกราคม –เมษายน ก่อนจะถึงฤดูกาลระบาดในฤดูฝน  เนื่องจากดำเนินการง่าย เพราะมีแหล่งน้ำขังน้อย  เพื่อลดปริมาณยุงลายให้ได้มากที่สุด  ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยไข้เลือดออกได้มาก

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปี 2560  สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 19 ก.พ.พบผู้ป่วย 4,058 ราย จาก 76 จังหวัด พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 15-24 ปี เสียชีวิต 6 ราย

เรื่องน่าสนใจ