อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยืนยันไม่มีการออกใบอนุญาตสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้งสปา นวดผ่านนายหน้า พร้อมย้ำเตือนผู้ประกอบการอย่าหลงเชื่อเด็ดขาด ระบุใบอนุญาตจะออกให้เฉพาะสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน หากพบการเรียกรับผลประโยชน์ขอให้แจ้งสายด่วน 02-1937999 ทันที
จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีกลุ่มผู้ฉวยโอกาส อ้างตัวเป็นนายหน้า ช่วยติดต่อขอใบอนุญาตและหลักฐานต่างๆ ในการขอประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ต่อกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) มีการขมขู่ด้วย และมีกระแสข่าวว่ามีผู้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ จากกรม สบส.เรียกรับเงินค่าตรวจสถานประกอบการฯ นั้น
ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (23 กันยายน 2559) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้งสปา นวดเพื่อสุขภาพหรือนวดเพื่อเสริมความงามนั้น
ผู้ประกอบการจะต้องยื่นขออนุญาตด้วยตนเอง กรณีอยู่เขต กทม.ยื่นที่จุดบริการเบ็ดเสร็จจุดเดียว หรือวัน สต๊อป เซอร์วิส ชั้น 1 ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ต่างจังหวัดยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ ไม่มีการใช้นายหน้าดำเนินการอย่างเด็ดขาด
เนื่องจากขั้นตอนในการออกใบอนุญาต จะต้องมีความเข้มงวด ต้องตรวจสอบมาตรฐานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ทั้งด้านสถานที่ ผู้ประกอบการหรือผู้ดำเนินการ ผู้ให้บริการ การบริการ และความปลอดภัยหากผ่านเกณฑ์จึงจะได้รับใบอนุญาต
“ขณะนี้ กรม สบส.ยังไม่เปิดให้ยื่นขออนุญาต จะเริ่มเปิดตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2559 เป็นต้นไป จึงขอย้ำเตือนให้ผู้ประกอบการสปา นวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม ไม่ว่าจะเป็นกิจการใหญ่หรือเล็กก็ตามอย่าหลงเชื่ออย่างเด็ดขาด เพราะเจตนารมณ์กฎหมายฉบับนี้ ออกมาเพื่อส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานธุรกิจการสปา และนวดไม่ใช่ออกมาเพื่อสร้างความเดือดร้อนผู้ประกอบการ” อธิบดีกรม สบส.กล่าว
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า กรมสบส.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจและประเมินมาตรฐานสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 60 วันเป็นอย่างมาก
ซึ่งมาตรฐานของสปา จะต้องประกอบด้วย 1.สถานที่ ต้องสะอาด ไม่อยู่ในอาคารเดียวกับสถานบริการทั่วๆไป 2.ผู้ดำเนินการต้องแสดงชื่อ นามสกุล เลขที่ใบรับรองการเป็นผู้ดำเนินการ และวันที่ออกใบรับรอง 3.ผู้ให้บริการ ต้องได้รับการอบรมตามหลักสูตรจากสถาบันหรือสถานศึกษาที่คณะกรรมการตรวจและประเมินมาตรฐานรับรอง แต่งเครื่องแบบรัดกุม ติดป้ายชื่อ
4.การบริการหลักจะต้องประกอบด้วย 2 ส่วนคือการนวดเพื่อสุขภาพ การใช้น้ำเพื่อสุขภาพ และมีบริการเสริมอื่นๆอีก 3 รายการเป็นอย่างน้อย เช่น เซาน่า ฟิตเนต โยคะ เป็นต้น และ 5. ด้านความปลอดภัย มีชุดปฐมพยาบาลพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา มีการควบคุมดูแลการใช้อุปกรณ์อันอาจก่อให้เกิดอันตราย
นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า ในด้านมาตรฐานของนวดเพื่อสุขภาพหรือนวดเพื่อเสริมความงาม ประกอบด้วย 5 มาตรฐาน คือ 1.สถานที่ กำหนดให้สถานที่นวดเพื่อสุขภาพ เช่นนวดเท้า นวดไทย นวดน้ำมัน จะต้องไม่อยู่ในในอาคารเดียวกับสถานบริการทั่วไป 2.ผู้ประกอบการ 3. ผู้ให้บริการ 4. การบริการ
และ 5.ความปลอดภัย ต้องมีชุดปฐมพยาบาลพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา มีระบบป้องกันอัคคีภัย โดยในการตรวจสอบมาตรฐานสถานประกอบการฯ ของพนักงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากส่วนกลาง และภูมิภาคจะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
หากพบบุคคลที่มีพฤติกรรมเรียกเก็บค่านายหน้า หรือเจ้าหน้าที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ขอให้แจ้งที่สายด่วนคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ กรม สบส. 02- 1937999 ตลอด 24 ชั่วโมง จะเร่งตรวจสอบพร้อมดำเนินการทางกฎหมายและวินัยโดยไม่ละเว้นทันที
สำหรับการทำงานอย่างเข้มข้นของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ไม่ว่าจะตรวจจับผู้ประกอบการสปานวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม หรือ การตรวจจับคลินิกเถื่อน คลินิกเสริมความงามเถื่อน หมอเถื่อน หมอศัลยกรรมไร้มาตรฐานได้ทำงานโดยอาศัยความร่วมมือกับตำรวจ และสื่อมวลชนเพื่อบุกทลายจับกุมไปด้วยกันทุกครั้ง
ในส่วนของภาคเอกชนที่สนับสนุนการทำงานเชิงรุกของกรม สบส. ทางเว็บไซต์ www.dodeden.com ได้ร่วมแจ้งข้อมูลหมอศัลยกรรมไร้มาตรฐานไปทางผู้บริหารกรมฯ
รวมทั้งเปิดให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถแจ้งเบาะแส สอบถาม ปรึกษาปัญหา รวมทั้งแจ้งสถานพยาบาลเถื่อนต่างๆ มาได้ โดยกดไลค์เพจเฟสบุ๊คโดดเด่นดอทคอม www.facebook.com/dodeden เพราะทางเว็บไซต์โดดเด่นดอทคอมมีผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว