กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะนำโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกยื่นเรื่องขออนุมัติโฆษณาทุกครั้งก่อนเผยแพร่ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและสถานพยาบาล ไม่ให้ทำผิดกฎหมายป้องกันการโฆษณาเท็จ หรือโอ้อวดเกินจริง ลดปัญหาการฟ้องร้อง และสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันด้านธุรกิจสถานพยาบาล

 

กรม สบส.

 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยตลาดสุขภาพและความงามของประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การแข่งขันด้านธุรกิจของโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกเพิ่มสูงขึ้น โดยใช้การโฆษณาเป็นตัวกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับบริการ โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียล อาทิ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก (Facebook) หรือไลน์ (Line) ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว แต่การเผยแพร่ข้อมูลใดๆ ของสถานพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่สำหรับให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนและผู้ป่วยนั้น จะอาศัยความรวดเร็วเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปต้องได้รับการตรวจสอบว่าถูกต้องเหมาะสมด้วย มิฉะนั้น ข้อมูลดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งในด้านสุขภาพ หรือชีวิตของประชาชน ดังนั้น กฎหมายสถานพยาบาลจึงกำหนดให้การโฆษณาหรือประกาศในทางการค้าของสถานพยาบาล ต้องขออนุมัติจากผู้อนุญาต โดยยื่นขออนุมัติต่อ กรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่สถานพยาบาลตั้งอยู่ก่อนเผยแพร่ทุกครั้ง ซึ่งการขออนุมัติโฆษณานั้นนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่เป็นข้อมูลเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวงแล้ว สถานพยาบาลเองก็มั่นใจได้ว่าโฆษณาของตนได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ลดปัญหาการฟ้องร้อง และเกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันด้านธุรกิจสถานพยาบาลในมาตรฐานเดียวกัน หากสถานพยาบาลใดกระทำการเผยแพร่โฆษณาหรือประกาศฯ โดยไม่ได้ขออนุมัติ และได้รับอนุมัติจากผู้อนุญาตก่อนแล้ว จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาทและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา และหากตรวจสอบพบว่าโฆษณาดังกล่าว เข้าข่ายเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา

นายแพทย์ธเรศฯ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณาสถานพยาบาลนั้นมีอยู่หลากหลายประเภท แต่ข้อความที่มักจะพบว่ามีการนำมาใช้ในการโฆษณาสถานพยาบาล ได้แก่ เก่งที่สุด/เหนือกว่า/ผู้เชี่ยวชาญ/กูรู (Guru)/ระดับโลก/แห่งแรก/ดูดีทุกองศา/ถึง 99%/เห็นผลทันที/หายทุกโรค/หมอเทวดา ฯลฯ โดยสถานพยาบาลสามารถสามารถศึกษาและดาว์นโหลด “ตัวอย่างข้อความและแนวทางการพิจารณาอนุมัติ/ไม่อนุมัติข้อความ/ภาพ/การโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล” ได้ที่เว็บไซต์กรม สบส. (https://hss.moph.go.th/) โดยคลิ๊กที่ “ระบบริการประชาขน” ที่อยู่ด้านล่างของเว็บไซต์ หลังจากนั้นให้คลิ๊กที่ “การขออนุมัติการโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล”

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเบาะแสการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงของสถานพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกรม สบส.1426 แต่หากสถานพยาบาลนั้นตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาคสามารถแจ้งได้ที่ สสจ.เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่

โดดเด่น
ศัลยกรรม
webdodeden

 

เรื่องน่าสนใจ