กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แนะโรงพยาบาลเตรียมความพร้อมระบบสื่อสารด้วยเครื่องวิทยุคมนาคมให้มีความพร้อมใช้ รองรับการเกิดภัยพิบัติกรณีไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว เพื่อให้ระบบสื่อสารโทร คมนาคม สามารถติดต่อสื่อสาร และช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

กรม สบส

 

นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ภัยธรรมชาติในประเทศไทยส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การเกิดแผ่นดินไหว การเกิดน้ำท่วม การเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ไฟไหม้ล้วนก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง วัด บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชนเป็นจำนวนมาก ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน ซึ่งในการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น ความช่วยเหลือ การแจ้งเหตุการณ์ด้วยการใช้ระบบสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือ การส่งข่าวสารทางระบบเครือข่าย อาจไม่สามารถใช้งานได้หรือใช้งานได้ในบางส่วน เนื่องจากมีการใช้เครือข่ายที่มีปริมาณการใช้งานที่หนาแน่นหรือปริมาณที่มากกว่าปกติในการประสานงานด้านการขอความช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุการณ์ จนส่งผลให้ระบบสื่อสารล้ม ติดขัด ขัดข้องหรือใช้งานได้ช้า ไม่ทันต่อการขอรับความช่วยเหลือจากผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ ระบบการสื่อสารด้วยเครื่องวิทยุคมนาคมของสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หากขาดการเชื่อมโยงติดต่อ สื่อสารจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในการเกิดเหตุภัยพิบัติ จากเหตุการณ์ดังกล่าว กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ โรงพยาบาลควรให้ความสำคัญในการตรวจสอบห้องเครือข่ายวิทยุสื่อสาร ป้องกันเหตุกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้

นายปริญญา คุ้มตระกูล ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองวิศวกรรมการแพทย์ ได้มีการวิจัยโครงการ เรื่อง การประเมินประสิทธิภาพระบบสื่อสารด้วยเครื่องวิทยุคมนาคมในการรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติของสถานพยาบาลในประเทศไทย โดยการสำรวจสถานพยาบาลที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตามที่ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้กำหนดพื้นที่ความเสี่ยงเอาไว้ ตามระดับความเสี่ยงจากน้อยไปหามาก ได้แก่ กระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต สงขลา ระนอง สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ เชียงราย ตาก แพร่ แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ลำพูน ลำปาง กาญจนบุรี ตรัง และสตูล รวม 19 จังหวัด จำนวน 38 โรงพยาบาล เพื่อเป็นข้อมูลของการใช้งานเครื่องวิทยุคมนาคมในการสื่อสาร ให้พร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินขึ้น ผลการสำรวจพบว่าโรงพยาบาลมีการจัดการด้านพลังงานระบบไฟฟ้าหลัก ระบบไฟฟ้าสำรอง และระบบการป้องกันฟ้าผ่า ให้กับเครื่องวิทยุคมนาคมในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบสื่อสารด้วยเครื่องวิทยุคมนาคมในการรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติของสถานพยาบาลได้ทุกแห่ง อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลควรมีการจัดทำแผนงาน วางระบบป้องกัน ปรับปรุง แก้ไข พัฒนาการสื่อสารด้วยเครื่องวิทยุคมนาคม ให้พร้อมใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อมีการเกิดเหตุการณ์ ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว จะทำให้สามารถสื่อสารได้อย่างทันท่วงที ในการจัดการแผนวิกฤตกรณี ฉุกเฉิน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับบุคลากรในโรงพยาบาล และผู้รับบริการในโรงพยาบาลต่อไป

เรื่องน่าสนใจ