ที่มา: TNN 24

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะฉบับใหม่ไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าโดยสารที่ประชาชนนิยมใช้อยู่เป็นประจำ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระยะทาง 5 กิโลเมตร โดยยังคงกำหนดให้เป็นอัตราเดิม คือ ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก จัดเก็บอัตราค่าโดยสารได้ไม่เกิน 25 บาท กิโลเมตรที่ 2-5 ไม่เกินกิโลเมตรละ 5 บาท 

86

ทั้งนี้กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะฉบับใหม่นี้ เป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชนและป้องกันการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้โดยสารในราคาเกินจริง สำหรับระยะทางตั้งแต่ 5 กิโลเมตรเป็นต้นไป โดยจากเดิมให้ตกลงราคากันเองระหว่างผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะและผู้โดยสาร เปลี่ยนเป็นอัตรากิโลเมตรละไม่เกิน 10 บาท ตั้งแต่กิโลเมตรแรกจนสิ้นสุดการรับจ้าง และหากระยะทางมากกว่า 15 กิโลเมตรขึ้นไป จึงให้สามารถเลือกการตกลงราคากันเอง หรือให้คิดค่าโดยสารกิโลเมตรละไม่เกิน 10 บาท

การกำหนดวิธีการคิดอัตราค่าโดยสารในระยะทางเกิน 5 กิโลเมตรขึ้นไปนั้น เป็นการปรับปรุงแก้ไขให้มีความเป็นธรรมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากปัจจุบันรถจักรยานยนต์สาธารณะถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทางของประชาชนในเขตเมือง และมีแนวโน้มที่การเรียกใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะจะเป็นการจ้างให้ไปส่งในระยะทางที่ไกลมากขึ้น กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าโดยสารฉบับใหม่นี้จึงเป็นการลดช่องว่างไม่ให้มีการเรียกเก็บค่าโดยสารที่เกินจริง เนื่องจากผู้ใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างในระยะทางไกลต้องเป็นผู้ที่มีความจำเป็นและได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง

สำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่ในระยะเกิน 5 กิโลเมตร ผ่านการพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ อย่างรอบด้าน เช่น สภาพพื้นที่ปริมาณผู้โดยสาร รวมถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมภายในพื้นที่ สะท้อนต้นทุนของผู้ให้บริการเพื่อความเป็นธรรมต่อผู้โดยสารและผู้ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างด้วย

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้วินรถจักรยานยนตร์สาธารณะต้องจัดทำป้ายแสดงอัตราค่าโดยสารตามประกาศอย่างเป็นมาตรฐานและให้ผู้โดยสารรับทราบอย่างชัดเจน ณ บริเวณที่ตั้งวิน ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้กำชับให้สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-5 และสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบการจัดทำและติดตั้งป้ายแสดงราคา รวมถึงควบคุมการให้บริการของรถจักรยานยนต์สาธารณะในพื้นที่ต้องให้บริการที่ดี ไม่เอาเปรียบผู้โดยสาร ไม่เรียกเก็บอัตราค่าโดยสารเกินกว่าอัตราที่ทางราชการกำหนด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบตามวินรถจักรยานยนต์สาธารณะ

ทั้งนี้หากประชาชนพบปัญหาการให้บริการ ไม่ได้รับความเป็นธรรมของอัตราค่าโดยสาร สามารถร้องเรียนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ทันที ผ่านทางสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

เรื่องน่าสนใจ