กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ประชุมปรึกษาหารือ ติดตามความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของประเทศไทย โดยมีผู้วิจัยพัฒนาวัคซีนทั้งจากภาครัฐ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมทั้งหมดกว่า 200 คน

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

วันที่ 11 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมฟินิกซ์ 2–6 อาคาร 12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้จัดการประชุมติดตามความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (COVID-19) ของประเทศไทย โดยมีผู้วิจัยพัฒนาวัคซีน จากหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด บริษัท ไบโอเนท-เอชีย จำกัด องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านวัคซีน เข้าประชุมทั้งหมดกว่า 200 คน ร่วมปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ของประเทศ

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เป็นเครื่องมือสำคัญที่มีประสิทธิภาพสูงที่จะเป็นคำตอบในการป้องกันโรคและเป็นความหวังของทุกประเทศทั่วโลก ในขณะนี้รวมถึงประเทศไทย ดังนั้นการเร่งรัดให้มีการวิจัยพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีนใช้ในประเทศเร็วขึ้นจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกกับเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

 

 

 

กระทรวงสาธารณสุข โดย ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องการวิจัยพัฒนา เพื่อผลิตวัคซีนโควิด 19 ให้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งการจะผลิตวัคซีน ในภาวะเร่งด่วนจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการจากหลายภาคส่วน จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ ในการวิจัยพัฒนาผลิตวัคซีนโควิด 19 ขึ้นภายในประเทศ และล่าสุดคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติการจัดสรรงบกลาง 1,000 ล้านบาท อุดหนุนให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ พัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศ ให้พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตวัคซีนโควิด19 และการสร้างขีดความสามารถของประเทศในการพัฒนาและผลิตวัคซีนเพื่อให้ประชาชนไทยได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์ของการประชุมในวันนี้เพื่อปรึกษาหารือและติดตามความก้าวหน้า การวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ของประเทศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการสนับสนุนและสามารถดำเนินการตามแผนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารข้อมูลให้กับประชาชน ซึ่งมีความสนใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19

 

 

 

สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่

โดดเด่น
ศัลยกรรม
webdodeden

 

เรื่องน่าสนใจ