การส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตโดยใช้กลไกตำบลจัดการสุขภาพ ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญของกรมสุขภาพจิตในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต
ภายใต้ระบบสุขภาพระดับอำเภอ ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ในการร่วมกันค้นหา วิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ด้วยตัวเอง ที่จะทำให้ได้รับการดูแลและได้รับการส่งเสริมสุขภาพจิตได้ตรงกับสภาพปัญหาและบริบทของแต่ละพื้นที่ได้อย่างครบถ้วนครอบคลุมทุกมิติ ถือเป็นการตอบโจทย์สำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี เกิดจากรากฐานของชุมชน นำไปสู่การลดจำนวนผู้ป่วยและเพิ่มความแข็งแรงให้กับประชาชนทั่วทุกกลุ่มวัยในประเทศ
อีกทั้งเกิดการเข้าถึงบริการได้มากยิ่งขึ้น รวดเร็วขึ้น และตรงจุดมากขึ้น ประชาชนสามารถช่วยกันค้นหาผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต เมื่อพบเร็ว จะมีผู้ดูแลเบื้องต้นในพื้นที่เข้ามารับช่วงต่อแต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเกินความสามารถในการดูแล ก็จะสามารถส่งตัวไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่อไปได้
ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี พ.ศ.2556 ซึ่งดำเนินการสำรวจต่อเนื่องทุก 5 ปี ในกลุ่มประชากร อายุ 18 ปีขึ้นไป พบว่า คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวช ประมาณ 7 ล้านคน
เช่น เป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ปัญหาจากการใช้สุราและสารเสพติด ปัญหาการฆ่าตัวตาย อาการทางจิตหลงผิด เป็นต้น กรมสุขภาพจิตจึงได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตในเชิงรุก ด้วยการอาศัยตำบลจัดการสุขภาพ ซึ่งมีอยู่กว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ ใช้กลไกของ อสม. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะมาช่วยกันวางระบบดูแลสุขภาพจิตชุมชนร่วมกัน
ตั้งแต่การตรวจเยี่ยม ประเมิน คัดกรอง และวินิจฉัย ว่ามีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ ถ้ามีจะให้การช่วยเหลืออย่างไร และถ้าเป็นมากสามารถส่งรักษา ใน รพ.เฉพาะทางได้ ที่สำคัญมีการติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษา เมื่อกลับเข้าสู่ชุมชน ไม่เกิดตราบาป มีที่ยืนในสังคม และใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า
นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต ( Mental Health Literacy ) ซึ่ง ที่ผ่านมา ประชาชนยังไม่เข้าใจ คำว่า สุขภาพจิต โรคทางจิต หรือ โรคจิตเวช มากนัก ว่าแท้จริงแล้วไม่ต่างกับการเจ็บป่วยทางกาย ที่ต้องได้รับการรักษา ไม่ใช่ตราบาป หรือเป็นเรื่องที่น่าละอายแต่อย่างใด และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.นับเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญของระบบสุขภาพที่ใกล้ชิดประชาชน เป็นกำลังสำคัญที่จะไปดูแลสุขภาพในทุกครัวเรือน
และเป็นจิตอาสาที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก ที่จะช่วยสื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจไปยังประชาชนในชุมชนได้เป็นอย่างดี กรมสุขภาพจิตจึงได้พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตชุมชนขึ้น ด้วยการติดอาวุธความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตให้กับพวกเขา
อาทิ ให้รู้ว่าโรคทางจิตเป็นอย่างไร จะสามารถวิเคราะห์ ประเมิน หรือคัดกรองได้อย่างไร ตลอดจน จะให้การดูแลช่วยเหลือ นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้อย่างไร ทั้งนี้ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว อสม.ทุกคนจะได้เข้าไปเยี่ยมบ้าน ซึ่งจะทำให้เรามั่นใจได้ว่า คนในชุมชนตั้งแต่ปฐมวัย วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยสูงอายุ จะได้รับการประเมิน คัดกรอง ดูแลช่วยเหลือ และส่งต่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้อย่างทันท่วงที
โดยในปีนี้ได้ดำเนินการในตำบลนำร่อง 878 อำเภอ ทั่วประเทศ และตั้งเป้าหมายให้มี อสม.เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตชุมชนให้ครบทุกตำบล ภายในปีหน้า
“การจะทำให้งานสุขภาพจิตชุมชนสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี หัวใจสำคัญอยู่ที่ประชาชน ที่ต้องร่วมกันวิเคราะห์ถึงปัญหาสุขภาพจิต นำมาสู่การแก้ไขและใช้มาตรการด้านสุขภาพจิตในการป้องกันและรักษา ตลอดจนมีความรู้ความเข้าใจทางด้านสุขภาพจิต รู้ว่าเมื่อไรเรียกว่าสุขภาพจิตไม่ดี แล้วควรทำอย่างไร รักษาได้หรือไม่และที่ไหน เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประชาชนสามารถจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตของตัวเองและคนรอบข้างได้”
ทั้งหมดนี้ เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่กรมสุขภาพจิตมุ่งมั่นและตั้งใจทำ เพื่อให้ประชาชนคนไทย เป็น “Smart Citizen” ที่มีคุณภาพ สมบูรณ์ทั้งกายและใจ มีสติปัญญาที่ดี อารมณ์ดี และมีความสุข อยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี